สมาคมบลจ.จี้ SPRC แจงป้องกัน-เยียวยาน้ำมันดิบรั่ว สร้างความมั่นใจผู้ลงทุน

HoonSmart.com>> สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ร่อนหนังสือถึง CEO “สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง” ขอคำชี้แจงกรณีน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล จังหวัดระยอง พร้อมมาตรการป้องกัน และการแก้ไขเยียวยาจากผลกระทบ เพื่อความมั่นใจของผู้ลงทุน

สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (สมาคมฯ) ได้ส่งหนังสือลงนามโดย นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานคณะอนุกรรมการนโยบาย ESG Policy & Collective Action และประธานกรรมการกิตติมศักด์ สมาคมบริษัทจัดการลงทุน ถึงนายโรเบิร์ต โจเซฟ โดบริค กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ไหลในทะเล จังหวัดระยอง พร้อมมาตรการป้องกัน และการแก้ไขเยียวยาจากผลกระทบ เพื่อความมั่นใจของผู้ลงทุน

ทั้งนี้ ตามที่ SPRC ออกแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยแจ้งว่าพร้อมรับผิดชอบในเรื่องการชดใช้ค่าเสียหายอย่างเป็นธรรมและสมเหตุสมผลจากเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหายให้แก่ชุมชน การประมง ธุรกิจท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เพื่อให้มีผลกระทบน้อยที่สุดนั้น

สมาคมฯ โดยคณะอนุกรรมการนโยบาย ESG Policy & Collective Action ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและผู้จัดการกองทุนจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่าง ๆ ได้มีการติดตามเหตุการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด ขอส่งกำลังใจให้ท่านที่ได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์ได้อย่างรวดเร็วโดยมีการเปิดเผยข้อมูลทันที เป็นการแสดงถึงความใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล อันเป็นตัวอย่างของผู้นำในการสร้างองค์กรที่เป็นบรรทัดฐานและแบบอย่างที่ดีต่อสังคมและตลาดทุนไทย

อย่างไรก็ตาม สมาคมฯ ยังกังวลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมนี้เป็นครั้งที่สองในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งแรกเป็นการดำเนินการโดยอีกบริษัทหนึ่ง อีกทั้งยังมีการรั่วไหลของน้ำมันค้างท่อสร้างความเสียหายเพิ่มเติมในทะเล ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำติดต่อกันเช่นนี้ จึงขอให้ SPRC ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของเหตุการณ์ เช่น

1.สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหล ทั้งที่เป็นเหตุการณ์ที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง รวมทั้งเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันค้างท่อ

2.มาตรฐานเพิ่มเติมในส่วนของการบำรุงรักษาท่อส่งน้ำมันและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

3.แนวทางการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีกในอนาคต

4.มาตรฐานการตอบโต้สถานการณ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานสากลหรือไม่ รวมทั้งมีทรัพยากรเพียงพอและมีบุคคลากรที่มีประสบการณ์พร้อมระงับเหตุได้ทันทีหรือไม่

5.แนวทางการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งแนวทางการฟื้นฟูทรัพยากรทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พร้อมระยะเวลาที่ครอบคลุม