HoonSmart.com>> หุ้น CWT ซิลลิ่ง 30% ขานรับ”ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป” ไฟเขียวบริษัทลูก รุกธุรกิจใหม่ ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ศึกษาธุรกิจสร้างเหมืองขุดบิทคอยน์จากการใช้พลังงานหมุนเวียน (Green Bitcoin Mining) ที่มีอยู่ในกลุ่มบริษัท ด้านเอ็มดี “วีระพล ไชยธีรัตต์” ชี้เห็นโอกาสจากกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ต้นทุนค่าไฟต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตอบรับนโยบาย Net Zero ประชุม COP26 หวังสร้าง New S Curve หนุนเติบโตแข็งแกร่ง
เมื่อเวลา 15.12 น.หุ้น CWT พุ่งชนซิลลิ่ง 30% มาอยู่ที่ 4.16 บาท เพิ่มขึ้น 0.96 บาท มูลค่าซื้อขาย 479.31 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 3.20 บาท ขึ้นสูงสุด 4.16 บาท และต่ำสุด 3.12 บาท
นายวีระพล ไชยธีรัตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยวัฒนา แทนเนอรี่ กรุ๊ป (CWT) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทย่อย มีมติให้ บริษัท ชัยวัฒนา กรีน แมนเนจเม้นท์ ดำเนินการขอเพิ่มวัตถุประสงค์เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล พร้อมศึกษาการนำกำลังการผลิตส่วนเกินที่เหลืออยู่ของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อนำมาใช้เป็น Green Bitcoin Mining รองรับนโยบาย Net Zero หรือเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อีกด้วย
“การขุดบิทคอยน์นั้นใช้พลังงานอย่างมหาศาลถึง 110 เทราวัตต์ชั่วโมงต่อปี ซึ่งเทียบเท่าการใช้พลังงานของประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น ประกอบกับผลการประชุม COP26 ที่ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมเป็นภาคีสมาชิกที่มีเป้าหมายสำคัญ คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส ประกอบกับนโยบาย Net Zero การไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนการแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ จึงเล็งเห็นโอกาสจากการใช้พลังงานหมุนเวียนจากกำลังการผลิตส่วนเกินทั้งในโครงการของกลุ่มบริษัทและพันธมิตรที่จะได้ร่วมกันสร้าง Bitcoin Mining ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้มีสัดส่วนของพลังงานที่ใช้ในการขุดเหรียญดิจิทัลที่ไม่ก่อมลพิษเพิ่มให้กับโลกเรา ทั้งยังมีต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ต่ำกว่าซื้อจากการไฟฟ้าและลดการใช้ทรัพยากรของส่วนรวมได้ โดยคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าของโครงการภายในปีนี้”นายวีระพล กล่าว
กรรมการผู้จัดการ CWT กล่าวอีกว่า มั่นใจว่าการขยายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล การสร้างเหมืองขุดบิทคอยน์จากการใช้พลังงานหมุนเวียน (Green Bitcoin Mining) จะช่วยสร้าง New S Curve ให้กับธุรกิจ และเป็นการต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว สนับสนุนผลงานเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น
อนึ่ง บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่ขายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และมีโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาคือ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน จังหวัดนครสวรรค์ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันได้สัญญาบริหารจัดการขยะแล้ว 25 ปี และอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงงานแยกขยะเพื่อเตรียมการต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชนได้ภายในเร็วๆ นี้