“กรุงศรี” คาดกนง.คงดอกเบี้ยตลอดปี การฟื้นตัวศก.เปราะบาง เงินเฟ้อต่ำ

HoonSmart.com>> “วิจัยกรุงศรี” เผยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง และแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์อยู่ในระดับต่ำ คาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ตลอดปี ด้านความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนม.ค.ปรับลดลงครั้งแรกรอบ 5 เดือน สะท้อนความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังพอมีแรงพยุงจากมาตรการรัฐ

การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งแรกของปี 2565 (วันที่ 9 ก.พ.) มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุด กนง.ประเมินเศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องจากภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่ปรับดีขึ้น ส่วนการระบาดจากไวรัสโอมิครอนคาดว่าจะส่งผลกระทบจำกัด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในปีนี้มีแนวโน้มสูงกว่าที่คาดและอาจอยู่เหนือกรอบเป้าหมายในช่วงแรกของปี เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นกว่าคาด การส่งผ่านต้นุทนที่สูงขึ้น และ Supply disruption ยืดเยื้อ

วิจัยกรุงศรีคงคาดการณ์ว่ากนง.จะตรึงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 0.50% ตลอดจนถึงสิ้นปีนี้ เนื่องจาก (i) แม้อัตราเงินเฟ้อมีความเสี่ยงด้านสูงเพิ่มขึ้น แต่กนง.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในปี 2565 และอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย (ต่ำกว่า 3%) และยังไม่เห็นสัญญาณการปรับเพิ่มของราคาสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง อีกทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ยังอยู่ในระดับต่ำ

(ii) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวล่าช้าและต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่มาก ขณะที่กนง.ประเมินเศรษฐกิจโดยรวมกว่าจะฟื้นกลับสู่ระดับก่อนวิกฤตการระบาดอาจเป็นช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า และ

(iii) ตลาดแรงงานยังอ่อนแอและค่าจ้างที่อาจยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเกิดวิกฤตการระบาด โดยวิจัยกรุงศรีประเมินค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำสุดในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพียง 1% เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าค่าจ้างที่แท้จริงของครัวเรือนรายได้สูงสุดที่จะเพิ่มขึ้น 3.2% ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงของทุกกลุ่มครัวเรือนในปีนี้จะยังอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 สะท้อนถึงกำลังซื้อที่ยังอ่อนแอและมีความแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้ ซึ่งจะส่งผลให้ความสามารถในการใช้จ่ายไม่เท่าเทียมกันและยังบ่งชี้ถึงความเปราะบางในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน สะท้อนความอ่อนแอของการใช้จ่ายในประเทศ แต่ยังพอมีแรงพยุงจากมาตรการรัฐ โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคมปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนที่ 44.8 จาก 46.2 เดือนธันวาคม เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ (6 เดือนข้างหน้า) ปรับลดลงสู่ระดับ 52.5 จาก 53.8 เดือนธันวาคม

ปัจจัยลบจากความกังวลการระบาดของไวรัสโอมิครอนที่แพร่ได้เร็ว ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นกระทบต่อราคาวัตถุดิบและราคาสินค้า รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ

ในช่วงต้นปีกำลังซื้ออาจได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานตามราคาน้ำมันดิบในคลาดโลก นอกจากนี้ กำลังซื้อของผู้บริโภคยังมีความเปราะบางและแตกต่างกันตามกลุ่มรายได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังพอมีปัจจัยบวกที่จะช่วยประคับประคองการใช้จ่ายในประเทศได้บ้าง จากมาตรการควบคุมการระบาดที่ผ่อนคลายมากขึ้น มาตรการช้อปดีมีคืน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดวงเงินรวม 53.2 พันล้านบาท ผ่านโครงการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 (วงเงิน 34.8 พันล้านบาท) โครงการช่วยเหลือผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มเปราะบาง (วงเงิน 9.4 พันล้านบาท) และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 (วงเงิน 9 พันล้านบาท) ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะช่วยให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจประมาณ 1-1.5 แสนล้านบาท