BAM คุย 7 แบงก์ตั้ง JV ธุรกิจ AMC จับมือ “ไปรษณีย์ไทย” ขายทรัพย์เร็วขึ้น

HoonSmart.com>>”บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์” ร่วมมือกับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำหน่ายสินทรัพย์เพื่อให้จบเร็วขึ้น ลดเวลาถึงจุดคุ้มทุนเหลือ 5 ปี จากเดิม 7 ปี  หั่นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงราว 6% ยอมรับเจรจากับสถาบันการเงิน 7 แห่ง ร่วมจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ ปีนี้ตั้งงบซื้อหนี้ 9 พันล้านบาท

บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) ผนึกกำลังกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย เตรียมให้บริการสำรวจดูแล และตรวจสภาพของทรัพย์สินรอการขายให้กับ BAM ทั่วประเทศ และสนับสนุนด้านการตลาด การประชาสัมพันธ์ทรัพย์ BAM ผ่านแพลตฟอร์ม และสื่อต่างๆของไปรษณีย์ทั้ง Online และ Ofline ที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เมื่อวันที่ 11 ก.พ.2565

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) เปิดเผยว่า  ไปรษณีย์ไทยเป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ มีความชำนาญในการเข้าถึงทุกพื้นที่ของประเทศ  มีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ 10,000 แห่ง และบุคลากรกว่า 20,000 คนที่จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายให้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสำรวจทรัพย์ที่กระจายอยู่ทุกทำเลทั่วประเทศ และ BAM ต้องมีการออกสำรวจตรวจสอบทรัพย์ดังกล่าวทุก 3 เดือน  ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนเวลาการทำงาน และลดต้นทุนต่าง ๆ   จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภารกิจในการบริหารทรัพย์สินรอการขายให้มีศักยภาพมากขึ้น

“BAM ยังคงเดินหน้าร่วมมือกับพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับไปรษณีย์ไทย ส่งผลให้จำหน่ายสินทรัพย์ใช้ระยะเวลาลดลง และเข้าถึงจุดคุ้มทุนเร็วขึ้น เหลือ 5 ปี จากเดิม 7 ปี จึงสามารถลดค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลงราว 6% “นายบัณฑิตกล่าว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวถึงแผนการดำเนินงาน ในปี 2565ว่า  บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ราว 9,000 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้เสีย (NPL) และ สินทรัพย์รอการขาย (NPA) เพิ่มเติม โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคบริการเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ผู้ประกอบการรถขนส่ง สายการบิน และเกษตรกร เป็นต้น จึงคาดว่า NPL ที่จะออกมาในระบบคงมีจำนวนมากขึ้น โดย 2 เดือนแรกของปี 2565 ออกมาแล้วราว 20,000 ล้านบาท

ส่วนการร่วมทุน (JV) จัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันทางการเงินทั้งหมด 7 ราย คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 ทั้งนี้ มีทั้งธนาคารที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐ 2 ราย และเกี่ยวกับ AMC อีก 1 ราย รวมถึงธนาคารพาณิชย์ แต่จะไม่มีสถาบันการเงินเฉพาะกิจ(SFIs) ตามเงื่อนไขจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเบื้องต้นสถาบันทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐได้นำพอร์ตหนี้เข้ามาเสนอแล้ว 1 ราย

“การ JV สามารถจัดตั้ง AMC ร่วมกันหลายแห่ง หลายกองก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจับมือกับสถาบันการเงินเพียงรายเดียว และคาดว่า NPL จะมีออกมาต่อเนื่องในปีนี้และปี 2566 มูลค่ากว่า 2-3 แสนล้านบาท อาจจะทำให้สถาบันทางการเงินออกมา JV หรืออาจจะขายขาดก็ต้องดูอีกที ซึ่งจะช่วยให้เราขยายธุรกิจได้มาก โดยที่ไม่ต้องเพิ่มทุน”นายบัณฑิต กล่าว

ปัจจุบัน BAM มีทรัพย์สินรอการขายทุกประเภท ทั้งที่ดินเปล่า บ้านเคี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ อาการพาณิชย์ อาคารชุด หลากหลายทำเลครอบคลุมในทุกภูมิภาคของประเทศไทย มากกว่า 20,000 รายการ มูลค่ารวมกว่า 60,000 ล้านบาท การบริหารจัดการทรัพย์สินรอการขาย ( NPA) มีนโยบายมุ่งเน้นในการฟื้นฟูธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มือสอง ให้มีคุณภาพ พร้อมจำหน่ายในรากายุติธรรม โดยมีสำนักงานของ BAM จำนวน 26 แห่ง ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ บริหารจัดการทรัพย์สินรอการขายแบบครบวงจร