HoonSmart.com>>”รักษ์ วรกิจโภคาทร” เอ็มดี ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ประกาศเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เสนอกลยุทธ์ “เกมเปลี่ยนประเทศไทย” เร่งเพิ่มผู้ส่งออกรายใหม่ 1 หมื่นราย เพิ่มสินเชื่อคงค้างถึง 2 แสนล้านบาทในปี 67 จัดพอร์ตสินเชื่อ 75% หนุนอุตสาหกรรมที่มีอนาคต คุมเอ็นพีแอลไม่เกิน 3.5% ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้แตะ 1.65 แสนล้านบาท เผยปี 64 กำไร 1,531 ล้านบาทสูงสุดรอบ 5 ปี
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ถือโอกาสที่ธนาคารครบรอบ 28 ปี สะท้อนปัญหาใหญ่ของการส่งออก และเสนอแนวทางแก้ไข โดยมีเป้าหมายชัดเจนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพราะส่งออกไทยถูกทิ้งห่างไปไกลมาก ทั้งทางด้านมูลค่า ประเภทสินค้า และจำนวนผู้ส่งออก ต้นเหตุเกิดจากการทำทุกอย่างเหมือนเดิม ไม่ปรับตัวเหมือนประเทศเพื่อนบ้านหรือคู่แข่ง ดังนั้นจะต้องเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ ปรับกระบวนการคิด การทำงาน บนรากฐานของการพัฒนา และช่องทาง (แพลตฟอร์ม) ใหม่ ๆ ที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่ดี เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคตอย่างยั่งยืน และจำเป็นต้องเร่งทำในสถานการณ์ที่การส่งออกเป็นเครื่องยนต์เดียวที่เหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“เราจะเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ กลับไปเหมือนสมัยอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก่อตั้งแบงก์เป็นธนาคารเพื่อการพัฒนา และเหมือน IFCT (บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) เราใส่ใจเรื่องคนมาก เพื่อผลักดันให้เป้าหมายสำเร็จ สินเชื่อเราจะโตมากกว่าระบบ 2 เท่าในแต่ละปี ตั้งเป้าสินเชื่อคงค้าง 2 แสนล้านบาทในปี 2567 และคุมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs ) ไม่ให้เกิน 3.5% หากมี NPLs ก็ต้องขายออก เพราะไม่สามารถใส่สินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่อ่อนแอได้ จำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี จะต้องโตถึง 5 เท่า จากเดิมปีละ 500 รายเป็น 2,500 ราย ตั้งเป้าหมายไว้ประมาณ 10,000 ราย ถ้าทำไม่ได้จะพบจุดจบ”ดร.รักษ์กล่าว
ธนาคารจะให้การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่อุตสาหกรรมเพื่ออนาคต สัดส่วน 75% อีก 25% จะปล่อยให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่เป็นผู้ส่งออก โดยจะเร่งเพิ่มจำนวนลูกค้าในแต่ละปี นำเอาผู้ประกอบการที่อาจยังไม่ได้เป็นผู้ส่งออก แต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการส่งออก เช่น ซับพลายเออร์ หรือผู้ผลิตต้นน้ำ เป็นต้น ที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาขึ้นเป็นผู้ส่งออกได้
ขณะเดียวกันการอนุมัติสินเชื่อจะรวดเร็วยิ่งขึ้น ปัจจุบันสินเชื่อที่ไม่เกิน 15 ล้านบาท จะใช้เครื่องไม่ใช้คนพิจารณา ปีนี้จะปรับเป็น 20 ล้านบาท เป้าหมายจะเพิ่มเป็น 30 ล้านบาท ถ้าใช้คนทำจะช้า และอาจจะไม่เป็นธรรม ทำผ่านเครื่อง 3 ชั่วโมง เตรียมเอกสาร 3 วัน ถ้าใช้คนจะใช้เวลา 40 วัน
ดร.รักษ์กล่าวถึงเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2565 ว่า สินเชื่อโตเป็นสองเท่าของการเติบโตของระบบ หรือที่ประมาณ 165,000 ล้านบาท NPLs คาดว่าจะใกล้เคียงปีก่อนที่ไม่เกิน 3% เนื่องจากในพอร์ตขณะนี้เหลือแต่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ปีนี้คาดว่ามูลค่าส่งออกจะเติบโตได้ 5% โดยมองแนวโน้มเติบโตดี 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1. กลุ่มพลังงานทางเลือก 2.กลุ่มดิจิทัลคอนเทนต์ และ 3.กลุ่ม Health Care
ส่วนการให้สินเชื่อกับกลุ่มธุรกิจสายการบินในปี 2564 ไปราว 7,300 ล้านบาท ช่วยพยุงให้ธุรกิจสายการบินเริ่มกลับมาได้ราวปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ของปีนี้ ขณะนี้ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากที่หลายสายการบินเริ่มกลับมาเปิดให้บริการแล้ว สถานการณ์การท่องเที่ยวที่เริ่มกลับมา
ในปี 2565 ธนาคารมี 4 ภารกิจ คือ 1. ซ่อม อุตสาหกรรมที่ประสบวิกฤต เช่น สายการบิน พาณิชยนาวี และอุตสาหกรรมที่เริ่มไปต่อไม่ได้ โดยสนับสนุนให้เกิดการปรับธุรกิจและพัฒนากิจการตอบโจทย์ลูกค้ายุค Next Normal
2. สร้าง อุตสาหกรรมสู่อนาคต อาทิ การสนับสนุนสินเชื่อให้แก่ธุรกิจที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) และสร้างนักรบหน้าใหม่
3. เสริม การค้าการลงทุนของไทยในต่างประเทศ ทั้งตลาดหลักและตลาดใหม่ อาทิ CLMV
4. สานพลัง กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเดินเกมเปลี่ยนแปลงประเทศไทย
ในปี 2564 EXIM BANK ได้รับอนุมัติเงินเพิ่มทุนจากกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 4,198 ล้านบาท นับเป็นการเพิ่มทุนครั้งแรกในรอบ 12 ปี โดย แบ่งจ่ายงวดที่ 1 จำนวน 2,198 ล้านบาทในเดือนพ.ย. 2564 และงวดที่ 2 อีกจำนวน 2,000 ล้านบาทภายในปี 2565
ด้านผลการดำเนินงานปี 2564 แม้ว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก แต่ EXIM BANK สามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง โดยมีกำไรสุทธิสูงถึง 1,531 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี มีสินเชื่อคงค้าง 152,773 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อนถึง 17,545 ล้านบาทหรือ 12.97% แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 40,259 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 112,514 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) 196,726 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นธุรกิจของ SMEs จำนวน 70,797 ล้านบาท หรือคิดเป็น 35.99%
“กำไร 1,531 ล้านบาท มาจากการปล่อยสินเชื่อธุรกิจใหม่ พลังงานทางเลือกมีอยู่ในพอร์ต 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงโควิดมีบ้างอุตสาหกรรมที่ไปได้ดี เช่น ถุงมือยาง Health Care ก็โต ทำให้เรามีกำไร ดูแลโลกให้ดีขึ้นด้วย ธนาคารจะกลับมาเน้นสินเชื่อสีเขียว สร้างซัพพลายเชนของ EV ชิ้นส่วนยานยนต์อยู่คู่กับประเทศไทยกว่า 40 ปี นิติบุคคลจำนวนมาก รถมีชิ้นส่วน 2 หมื่นชิ้น หากเป็น EV จะเหลือ 700 ชิ้น 300-400 ชิ้นเป็นของใหม่ เราไปให้สินเชื่อตั้งสถานี ตั้งแต่ 3 ปีก่อน เสมือนสินเชื่อที่เกิดใหม่”ดร.รักษ์กล่าว
สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้ขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศ ณ สิ้นปี 2564 มีวงเงินสะสมสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 102,152 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้าง 66,254 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,870 ล้านบาทหรือ 17.50% และยังสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในการขยายการส่งออกและการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ New Frontiers รวมถึง CLMV มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 50,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,312 ล้านบาทหรือ 25.94% ส่วนด้านบริการประกันการส่งออกและการลงทุนจำนวน 153,466 ล้านบาท สูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินการเช่นกัน เพิ่มขึ้นถึง 18,394 ล้านบาท หรือ 13.62% เมื่อเทียบกับปีก่อน