บล.กสิกรฯ หวัง 1,700 จุด ลุ้นเงินเฟ้อสหรัฐ สัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยคาดหุ้นแกว่งในกรอบ 1,630-1,700 จุด เคลื่อนไหวตามสถานการณ์โควิด ฟันด์โฟลว์  กำไรบจ. ติดตามสหรัฐประกาศตัวเลขเงินเฟ้อ ด้านธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 32.70-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยมองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (7-11 ก.พ.) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,650 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,685 และ 1,700 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประชุมกนง. (9 ก.พ.) สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของบจ.ไทย

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้า/ส่งออกเดือนธ.ค. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนม.ค. 65 รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ข้อมูล PMI ภาคบริการเดือนม.ค. ของจีน และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนม.ค. ของญี่ปุ่น

หุ้นดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,674.22 จุด เพิ่มขึ้น 2.12% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 65,938.28 ล้านบาท ลดลง 21.26% ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 4.91% มาปิดที่ 650.01 จุด

หุ้นปรับตัวขึ้นตลอดสัปดาห์ หลังตอบรับปัจจัยลบจากความกังวลต่อการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดไปพอสมควรก่อนหน้านี้ โดยมีแรงหนุนหลักๆ จากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว (โครงการ Test & Go และเราเที่ยวด้วยกัน) และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย (โครงการคนละครึ่ง)

หุ้นกลุ่มที่ขยับขึ้นโดดเด่นหลักๆ ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ ซึ่งรับแรงหนุนจากการสลับกลุ่มลงทุนในช่วงรายงานงบไตรมาส 4/64 ขณะที่หุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีและพลังงานก็ปรับตัวขึ้นมากเช่นกัน อย่างไรก็ดีมูลค่าการซื้อ-ขายในสัปดาห์นี้ค่อนข้างเบาบาง สอดคล้องกับตลาดหุ้นเอเชียหลายประเทศที่ปิดทำการเนื่องในเทศกาลตรุษจีน

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (7-11 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 32.70-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่ากว่าระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ อีกครั้ง ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายเพื่อทำกำไร หลังจากที่ตลาดปรับตัวรับรู้ความเป็นไปได้ที่เฟดจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ นอกจากนี้เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบเพิ่มเติมจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อ่อนแอในเดือนม.ค. (อาทิ การปรับตัวลงของการจ้างงานภาคเอกชน และการชะลอตัวของ PMI ภาคการผลิตและภาคบริการ) ตลอดจนสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ BOE และท่าทีที่มีความกังวลมากขึ้นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อของ ECB

ในวันศุกร์ (4 ก.พ.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 32.96 เทียบกับระดับ 33.36 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (28 ม.ค.)