ค่าเงินรูเปียะห์อ่อนรอบ 20 ปี-หุ้นตลาดเกิดใหม่ปั่นป่วน

ค่าเงิน-ตลาดหุ้นกลุ่มตลาดเกิดใหม่ปั่นป่วน เงินสกุลรูเปียะห์ ของอินโดนีเซีย อ่อนแตะระดับต่ำสุดรอบ 20 ปี

วันนี้ (5 กันยายน 2561) ตลาดเงินและตลาดหุ้นของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่หรือ emerging market กำลังปั่นป่วนหนัก เพราะค่าเงินของหลายประเทศอ่อนค่าลงแรงและบางสกุลลงไปแตะระดับต่ำสุด โดยในกลุ่ม EM เอเชียนั้น เงินรูเปียะห์ อินโดนีเซียและเงินรูปี อินเดีย อ่อนค่าลงมากที่สุด โดยค่าเงินรูเปียะห์ อินโดนีเซียที่ร่วงลงมาที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 ทศวรรษเมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายน 2561 ที่ 14,490 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์ ก่อนที่จะฟื้นตัวมาที่ 14,925 รูเปียะห์ต่อดอลลาร์ในวันนี้

ส่วนเงินรูปี อินเดียตกมาที่ระดับต่ำสุดของรอบ 7 วันที่ 71.78 รูปีต่อดอลลาร์

ส่วนค่าเงินเปโซ อาร์เจนตินาอ่อนค่าลง 3% เช่นกันจากที่อ่อนค่าลงแล้ว 16% ในสัปดาห์ก่อน ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีอ่อนค่าลงมากถึงเกือบ 50% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ขณะที่เงินลีรา ตุรกี อ่อนค่าต่อเนื่อง และเงินแรนด์ อัฟริกาใต้อ่อนค่าลง 3% หลังตัวเลขเศรษฐกิจชี้ชัดว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

เงินเปโซ เม็กซิโกเป็นสกุลเงินในกลุ่ม EM ที่อ่อนมากเป็นอันดับสองรองจากเงินแรนด์ ค่าเงินเปโซเป็นสกุลเดียวในประเทศกำลังพัฒนาที่แข็งค่าขึ้นในปีนี้ แต่การอ่อนค่าล่าสุดแทบจะหักกลบการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี ส่วนเงินรูเบิล รัสเซียอ่อนค่า 0.4%

ดัชนี MSCI Emerging Markets Currency Index ลดลง 0.46% ในวันที่ 4 กันยายน ซึ่งเป็นการอ่อนตัวลงมากที่สุดในรอบสองสัปดาห์

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า นักวิเคราะห์จาก ANZ มีความเห็นว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียไม่ได้เลวร้ายเสียทีเดียว เพราะจีดีพีไตรมาสสองยังขยายตัว แต่ค่าเงินอ่อนค่าลง เนื่องจากตลาดเงินเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากประเทศ EM อื่นที่จะขยายวงกว้างมา

ประธานาธิบดี โจโก วิโดโด กล่าวว่า มีหลายปัจจัยภายนอกที่ทำให้ค่าเงินรูเปียะห์อ่อนค่าลง ดังนั้นเรื่องหลักในขณะนี้คือเพิ่มการลงทุนและการส่งออกเพื่อรักษาไม่ได้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้น

นักวิเคราะห์จากมิซูโฮแบงก์ มีความเห็นว่า ความวิตกว่าผลกระทบจะขยายวงกว้าง เป็นวิตกกันมากเกินไป และภาวะการณ์อ่อนค่าของเงินรูเปียะห์กับเงินรูปี แตกต่างจากการอ่อนค่าของเงินเปโซ อาร์เจนตินาและเงินลีราตุรกี อีกทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะสร้างแรงกดดันกลุ่มประเทศ EM มากกว่า

นักวิเคราะห์จากมิซูโฮแบงก์ กล่าวอีกว่า ท่ามกลางความปั่นป่วน มีเพียงเงินบาทของไทยเท่านั้นที่ต้านทานกระแสนี้ได้ เพราะนักลงทุนรู้ว่าควรกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจประเทศไหน และเมื่อมองไทยแล้วดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจำนวนมากเกือบ 10% ของจีดีพี การขยายตัวของเศรษฐกิจเริ่มต่อเนื่องและสูงขึ้น

ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ความปั่นป่วนของกลุ่มประเทศ EM ครั้งนี้เงินแรนด์ อัฟริกากลายเป็นศูนย์กลางความผันผวนของค่าเงิน ขณะที่ตลาดหุ้นอัฟริกาตกแรงทำให้มูลค่าตลาดหายไปราว 1 ล้านล้านดอลลาร์นับจากต้นปี โดยค่าเงินแรนด์อ่อนค่า 1.5% แตะระดับต่ำสุดรอบมากกว่า 2 ปี จากการเทขายพันธบัตรของนักลงทุน หลังจากที่เปิดเผยว่าเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะถดถอยในไตรมาสสอง และติดต่อกัน 2 ไตรมาสแล้ว

เอเชียและกลุ่ม EM ในอัฟริกาตะวันออกประสบกับช่วงวิกฤติ โดยตลาดหุ้นอินโดนีเซียตกหนักครั้งแรกในรอบ 5 ปี หลังจากค่าเงินรูเปียะห์ร่วง ขณะที่ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้อ่อนตัวลง 2%

นักวิเคราะห์มองว่า สถานการณ์ในอาร์เจนตินา น่าจะเป็นจุดสนใจของนักลงทุนต่อไปและอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งผลกระทบในวงกว้างต่อประเทศ EM อื่น ทั้งนี้อาร์เจนตินาเร่งขอเบิกเงินกู้จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(International Monetary Fund) เพื่อเสริมสภาพคล่องในประเทศ

ตลาดหุ้นกลุ่มประเทศ EM ปรับตัวลดลง ทำให้ดัชนี MSCI Emerging Market Index ที่ครอบคลุม 24 ประเทศ อ่อนตัวลงเป็นวันที่ 6 และลดลง 20% จากปลายมกราคมที่ผ่านมา มูลค่าตลาดลดลงมากกว่า 950 พันล้านดอลลาร์

เมื่อแยกเป็นรายตลาด ตลาดหุ้นอินโดนีเซียลดลงราว 5% ซึ่งร่วงลงมากที่สุดตั้งแต่ปี 2013 ขณะที่ค่าเงินตกไปที่ระดับต่ำสุดของปี 1998 ธนาคารกลางได้เข้าแทรกแซงในตลาดเงินและตลาดพันธบัตร
นักวิเคราะห์มองว่า ตลาดหุ้นประเทศ EM ยังปรับเพิ่มไม่มากเมื่อเทียบกับตลาดหลัก แต่คาดว่าในอีกไม่นาน ตลาดของประเทศหลักจะลดลงตามตลาดประเทศEM ไม่ใช่ตลาดประเทศ EM ปรับตัวขึ้นมาทันตลาดประเทศหลัก

สถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) เปิดเผยข้อมูลว่า เงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ากลุ่มประเทศ EM ลดลงเป็น 2.2 พันล้านดอลลาร์ในเดือนสิงหาคมจาก 14 พันดอลลาร์ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่กระแสเงินไหลออกสุทธิจากประเทศ EM มีจำนวน 5 พันล้านดอลลาร์

ตลาดกลุ่ม EM กลับมาอยู่ในความสนใจของโลกอีกครั้ง เริ่มจากตุรกีที่ประสบกับปัญหาวิกฤติค่าเงินลีรา (Turkish Lira)อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา จากที่สหรัฐอเมริกาประกาศเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียม ทำให้ค่าเงินลีรา อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง ประกอบกับเศรษฐกิจตุรกีมีปัญหาสะสมมาอยู่แล้วทำให้ค่าเงินได้รับผลกระทบมากขึ้นอีก ทั้งนี้เศรษฐกิจตุรกีพึ่งพาเงินทุนจากต่าง ประเทศในสัดส่วนสูง ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account) ขาดดุลถึง 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภาคเอกชนของตุรกีมีหนี้สกุลเงินต่างประเทศจำนวนมาก

อัตราเงินเฟ้อสูงถึง 17.9% ในเดือนสิงหาคม สูงสุดในรอบ 15 ปี ส่งผลให้ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงอีกและอ่อนค่าถึง 45% จากต้นปี

รายต่อมาคืออาร์เจนตินาที่ตกอยู่ในวิกฤตค่าเงินรอบใหม่ ธนาคารกลางได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 4 ของปีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม จาก 45% เป็น 60% สูงที่สุดในโลก เมื่อค่าเงินเปโซอ่อนค่าลงเกือบ 10% เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม และทั้งเดือนอ่อนค่าไปแล้วเกือบ 30% รัฐบาลขอกู้เงินรอบใหม่ 50 พันล้านดอลลาร์ จากไอเอ็มเอฟ