หุุ้นกลุ่มไฟแนนซ์ขึ้น เก็งงบฯ-บริโภคดี-KTC ลุ้น Virtual Bank

HoonSmart.com>>หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ขยับขึ้นทั่วหน้า ถึงรอบเล่นเก็งกำไรตามงบฯที่คาดจะออกมาสวย และพลิกฟื้นในปี 65 ทั้งรับผลดี่จากการบริโภคดีขึ้นจากมาตรการช้อปดีมีคืน รวมถึงเล็งขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหนุนการบริโภคดีขึ้นด้วย ส่วนธปท.มีแผนให้ทำ Virtual Bank โบรกฯ มองเป็นผลดีต่อกลุ่มธนาคารขณะที่กลุ่มไฟแนนซ์ยังยึดติดกับการมีสาขา แต่ที่ดูมีเพียง KTC น่าจะมีความพร้อมทำ Virtual Bank ได้ดีสุดในกลุ่มไฟแนนซ์

ดัชนีกลุ่มไฟแนนซ์ ปิดภาคเช้าบวก 1.33% มาอยู่ที่ 5,603.64 จุด เพิ่มขึ้น 73.76 จุด หุ้นกลุ่มฯขยับขึ้นทั่วหน้า นำโดยหุ้น SAK พุ่ง 6.49% อยู่ที่ 9.85 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 146.53 ล้านบาท
หุ้น NCAP พุ่ง 5.61% อยู่ที่ 11.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 68.94 ล้านบาท
หุ้น HENG บวก 4.35% อยู่ที่ 4.80 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 179.26 ล้านบาท
หุ้น KTC บวก 3.70% อยู่ที่ 63.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,076.22 ล้านบาท
หุ้น XPG บวก 3.45% อยู่ที่ 2.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.08 บาท มูลค่าซื้อขาย 138.75 ล้านบาท

นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.คันทรี่ กรุ๊ป กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์เช้านี้ปรับตัวขึ้น คาดว่าจะมาจากการแล่นเก็งกำไรตามการคาดการณ์ผลดำเนินงานงวดไตรมาส 4/64 และงบปีที่จะออกมาดี อีกทั้งเรื่องที่กระทรวงแรงงานสั่งให้ศึกษาเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็น 492 บาทต่อวัน จากเดิม 300 กว่าบาท ซึ่งถ้าหากมีการปรับขึ้นค่าแรงงานจริงก็จะทำให้การบริโภคดีขึ้น ความสามารถในการก่อหนี้ก็จะดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าภาครัฐฯคงจะต้องมีการปรับขึ้นค่าแรงงานแต่จะเป็นเท่าไรอีกเรื่องหนึ่ง เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น แต่ช่วยสร้างความนิยมกลับมาจากมาตรการของภาครัฐฯ

สำหรับเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีแผนปฏิวัติธุรกิจการเงิน รับเศรษฐกิจดิจิทัล เอื้อให้ Non-Bank และธนาคาร โดยเปิดให้มีธนาคารที่ให้บริการในรูปแบบใหม่บนช่องทางดิจิทัล (Virtual Bank) นั้น มองว่าระยะสั้นคงจะยังไม่เกิดขึ้น เพราะผู้ที่จะทำต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในไทยเท่านั้น อีกทั้งต้องได้รับการอนุญาตจากแบงก์ชาติก่อน ซึ่งการทำ Virtual Bank มองว่าธนาคารจะมีความพร้อมในการทำมากกว่า เพราะโมเดลของพวก Non-Bank จะยึดติดกับการมีสาขา โดยเฉพาะพวกที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับจำนำทะเบียนรถ จะมีเพียงก็ KTC ที่ดูจะมีความพร้อมในการทำมากสุดเมื่อเทียบกับบริษัทอื่นในกลุ่มไฟแนนซ์

ส่วนธนาคารหากจะทำ Virtual Bank ก็อาจจะต้องตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อทำเป็นการเฉพาะก็ได้ ซึ่งมอง Virtual Bank จัดได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบสถาบันการเงินไทยในระยะกลาง เพราะคนที่ทำไม่ต้องมีสาขาเลย ไม่ต้องลงทุนใช้คนมาก แค่จะต้องจดทะเบียนในไทยเท่านั้น จึงคาดว่าธนาคารน่าจะทำก่อน เพราะทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจลดลงด้วย ซึ่ง Virtual Bank จัดได้ว่าเป็นการตอบโจทย์คนยุคใหม่ อย่างต่างประเทศก็มีการทำกันไปมากแล้ว ทั้งในสิงคโปร์, ฮ่องกง, เกาหลีใต้ เป็นต้น

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ปรับตัวขึ้น น่าจะมาจากความคาดหวังผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวขึ้น โดยผลดำเนินงานปี 64 ไม่แย่ และน่าจะได้เห็นกำไรพลิกฟื้นในปีนี้ (2565) ด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับตัวลงไปมากตอบรับมาตรการของภาครัฐฯไปแล้ว

นอกจากนี้ กลุ่มไฟแนนซ์อาจจะได้รับผลบวกจากภาคการบริโภคที่ดีขึ้นด้วย อย่างได้ประโยชน์จากมาตรการช้อปดีมีคืน ส่วนแนวทางการปรับขึ้นค่าแรงงาน ก็อาจจะช่วยหนุนภาพรวมการบริโภคดีขึ้น แต่ก็ทำให้ต้นทุนของบางบริษัทสูงขึ้นจากที่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก อย่างพวกค้าปลีก เป็นต้น ดังนั้นเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานจึงมองมีทั้งบวกและลบ

สำหรับ Virtual Bank อาจจะไม่เหมาะกับคนชั้นกลาง-ล่างเพราะอาจไม่เข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งกลุ่มไฟแนนซ์ ยังคงยึดติดกับการมีสาขา และมองว่ามีต้นทุนในการเปิดสาขาไม่มากด้วย