บล.กสิกรฯยันแนวรับแกร่ง 1,620 แนวต้านไม่เกิน 1,655 สัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทยคาดหุ้นสัปดาห์หน้าแกว่งแคบๆ ในช่วง 1,620-1,655 จุด ด้านค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.00-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (31 ม.ค. – 4 ก.พ. 65) ว่า ดัชนีหุ้นมีแนวรับที่ 1,630 และ 1,620 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,645 และ 1,655 จุด ตามลำดับ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ผลประกอบการไตรมาส 4/64 ของบจ.ไทย รวมถึงการประชุมโอเปกพลัส (2 ก.พ.)

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูล PMI การจ้างงานภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนม.ค ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ การประชุม ECB จีดีพีไตรมาส 4/64 ข้อมูล PMI และดัชนีราคาผู้บริโภค (เบื้องต้น) เดือนม.ค. ของยูโรโซน รวมถึงผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนธ.ค. 64 ของญี่ปุ่น

หุ้นปรับตัวลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,639.51 จุด ลดลง 0.80% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 83,744.56 ล้านบาท ลดลง 7.94% ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.39% มาปิดที่ 619.58 จุด

หุ้นร่วงลงแรงช่วงต้นสัปดาห์ เผชิญแรงขายต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนท่ามกลางความกังวลต่อแนวโน้มการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟด และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ ในประเด็นยูเครน ทั้งนี้หุ้นไทยร่วงลงต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์หลังทราบผลการประชุมเฟด ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดอาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่เคยส่งสัญญาณไว้ โดยหุ้นกลุ่มที่เผชิญแรงขายในระหว่างสัปดาห์ ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยี พลังงานและการเงิน อย่างไรก็ดี หุ้นฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงปลายสัปดาห์ หลังตอบรับปัจจัยลบไปพอสมควรแล้ว

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (31 ม.ค.-4 ก.พ.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.00-33.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทพลิกกลับมาอ่อนค่าอีกครั้ง สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุน ทั้งในช่วงก่อนและหลังการประชุมเฟด  แม้จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่กรอบ 0.00-0.25% ตามที่ตลาดคาด แต่ถ้อยแถลงและท่าทีของประธานเฟดออกมาในเชิงคุมเข้มและกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้ตลาดประเมินว่า มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 4 ครั้งในปีนี้ พร้อมกับเริ่มลดงบดุลเร็วกว่าที่คาด เพื่อสกัดแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯ

ในวันศุกร์ (28 ม.ค.) เงินบาทปิดตลาดในประเทศที่ 33.40 เทียบกับระดับ 32.96 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (21 ม.ค.)