ธปท.-ก.ล.ต.-คลังออกโรงวางกติกา คุมดิจิทัลชำระค่าสินค้า-บริการในวงกว้าง

HoonSmart.com>>3  หน่วยงานจับมือใช้กฎหมายดูแลการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการในวงกว้าง เปิดรับฟังความคิดเห็นถึง 8 ก.พ.65  เกณฑ์ออกมาเมื่อไรให้เวลา 15 วันปรับตัว  หากแก้ไขไม่ได้ ผิดพ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล โทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท และ 3 แสนบาทต่อครั้ง  กรรมการผู้บริหารโดนด้วย  แย้มโทเคนที่ออก ICO,  ผู้ค้ารายย่อย,  JFin  ทำได้ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment-MOP) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน

ดังนั้นหน่วยงานกำกับดูแล จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสม สำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบ โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลจะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ธปท. คำนึงถึงทั้งความเสี่ยงและประโยชน์ของสินทรัพย์ดิจิทัล รวมถึงเทคโนโลยีเบื้องหลัง และมองว่าขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันกับ ธปท. กระทรวงการคลังและก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ

ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน  ธปท. กล่าวย้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ ซึ่ง ธปท. และ ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประโยชน์ หรือที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ที่ในอนาคตอาจจะพิจารณาให้ใช้ต่อได้ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่อนุญาต และอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 8 ก.พ. 2565 เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนที่จะออกเป็นประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเมื่อออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์แล้ว ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตามหลักเกฎฑ์ที่กำหนด และทยอยลดการดำเนินการที่เป็นข้อห้ามต่างๆ เพื่อค่อยๆ ปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป

” สัญญาและข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนวันประกาศกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องดำเนินการให้ถูกต้องภายใน 15 วัน  หากไม่ทำถือว่ามีความผิด ตามมาตรา 67 พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท และ 3 แสนบาทต่อครั้ง ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ ก็มีความผิดในส่วนกรรมการผู้บริหารด้วย” น.ส.สิริธิดา ระบุ

นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า สินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตให้ใช้ในอนาคต ได้แก่ Stablecoin ที่มีการ back มูลค่าด้วยเงินบาท เพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีมูลค่าจริงๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่หลายประเทศพิจารณา เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ในการใช้งานมีความใกล้เคียงกับ e money

ทั้งนี้ในกรณีของ Stablecoin  มีหลายประเภท เมื่อมีหลักเกณฑ์ออกมาแล้ว จะระบุชัดเจนขึ้นว่า Stablecoin ตัวใดสามารถใช้ได้ และตัวใดจะต้องมีการกำกับดูแล

นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. สายธุรกิจตัวกลางและตลาด กล่าวว่า หลังปิดการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 8 ก.พ.แล้ว จะมีการประมวลข้อเสนอแนะและความเห็นต่างๆ ไปพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้หรือไม่ ถ้ามีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญ ก็จะต้องนำเสนอต่อ ก.ล.ต.อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่จะออกประกาศได้ แต่หากความเห็นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักการอย่างมีนัยสำคัญ ก.ล.ต.ก็สามารถลงนามในประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลได้ต่อไป

สำหรับควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลจะเน้นในกลุ่มที่เป็น Cryptocurrency และ Utilility Token พร้อมใช้เป็นหลัก  ปัจจุบันเริ่มมีการนำ Cryptocurrency มาใช้รับชำระสินค้าและบริการมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นต่อระบบการเงินของประเทศ ซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมออกมาจำกัดและควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ไม่ได้ปิดกั้นในส่วนโทเคนที่ได้ออก ICO และได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.แล้ว  เช่น กลุ่ม Investment Token ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน และ Utility Token ไม่พร้อมใช้  เพราะเป็นกลุ่มที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ที่สามารถเป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุน เพื่อนำไปต่อยอดโอกาสการขยายธุรกิจ และให้ผลตอบแทนกลับคืนมากับผู้ถือเหรียญผ่านการออก ICO

นอกจากนี้ หากกลุ่มผู้ค้ารายย่อยทั่วไปที่มีการเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Cryptocurrency ยังสามารถทำได้ แต่จะต้องไม่เป็นการใช้ในวงกว้าง  โดยร้านค้ารายย่อยจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของการรับชำระด้วย Cryptocurrency และความผันผวนของราคาที่เกิดขึ้นเอง แต่หากมีการใช้ในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎเกณฑ์ที่ก.ล.ต. และธปท.กำหนด

ส่วนกรณีเหรียญ JFin ซึ่งเป็นเหรียญที่ผู้ประกอบการเป็นคนออกเอง และมีการใช้ในกลุ่มของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ออกเหรียญ ถือว่าไม่อยู่ในการกำกับดูแลในเกณฑ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพราะยังถือว่าเหรียญมีการใช้ในวงจำกัด แต่หากเริ่มมีการนำไปใช้ในวงกว้าง จะต้องมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่จะออกมาควบคุม