BANPU-BPP รุกซื้อโซลาร์ฟาร์มเวียดนาม 2 แห่ง 50 MW มูลค่า 883 ลบ.

HoonSmart.com>> “กลุ่มบ้านปู” เข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ “Chu Ngoc-Nhon Hai” ในเวียดนาม กำลังผลิตรวม 50 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 883 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จภายในไตรมาส 2/65 หนุน BANPU มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 4,435 เมกะวัตต์ ส่วน BPP ขยับขึ้นแตะ 3,389 เมกะวัตต์ จ่อ COD โรงไฟฟ้าพลังลมหวินเจา เวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ไตรมาส 1/65

บริษัท บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัท BRE Singapore Pte.Ltd (BRES) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บ้านปูเน็กซ์ จำกัด ที่ BANPU และบริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) ถือหุ้นเท่ากัน 50% ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อลงทุน 100% ในบริษัท Licogi 16 Gia Lai Investment Renewable Energy Joint Stock Company (LCE Gia Lai) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Chu Ngoc ขนาดกำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ และ บริษัท Licogi 16 Ninh Thuan Investment Renewable Energy Joint Stock Company (LCE Ninh Thuan) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Nhon Hai ขนาดกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนรวม 26.69 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 883 ล้านบาท

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวอยู่ในระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องในสัญญา และการได้รับอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2565

หลังการเข้าซื้อหุ้นในครั้งนี้ ทำให้ BANPU มีกำลังการผลิตไฟฟ้าซึ่งตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตามสัดส่วนการลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,435 เมกะวัตต์ซึ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วตามสัดส่วนการลงทุน 4,253 เมกะวัตต์ โดย Banpu ยังคงเดินหน้าขยายพอร์ตการลงทุนที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter มุ่งเน้นการลงทุนในตลาดที่มีความเติบโตของความต้องการใช้ไฟฟ้าและมีนโยบายสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตจากธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าลงทุนเพื่อขยายพอร์ตธุรกิจพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter โดยเมื่อเดือนธ.ค.2564 ที่ผ่าน บริษัทฯ ได้ลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกที่ BPP ลงทุนในเวียดนาม โดยเวียดนามนับเป็นหนึ่งในประเทศยุทธศาสตร์ที่ BPP มุ่งขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากภาครัฐอีกด้วย

“โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนี้ มีจุดเด่นหลายประการ เช่น ตั้งอยู่ในพื้นที่ความเข้มของแสงอาทิตย์ในระดับดีเยี่ยมและยาวนาน มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FiT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี ส่งผลถึงกระแสเงินสดที่บริษัทจะได้รับอย่างมั่นคงในระยะยาว ซึ่งทั้ง 2 แห่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการผลิตอยู่แล้ว จึงสามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที”นายกิรณ กล่าว

สำหรับโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวมกัน 50 เมกะวัตต์ โดยเป็นกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนของ BPP 25 เมกะวัตต์ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชูง็อก ตั้งอยู่ในจังหวัดเกียลาย บริเวณพื้นที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม มีกำลังผลิต 15 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์น็อนไห่ ตั้งอยู่ในจังหวัดนินห์ถ่วน อยู่บริเวณชายฝั่งทะเลภาคกลางตอนใต้ของเวียดนาม มีกำลังผลิต 35 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4/2564 ที่ผ่านมา BPP ยังได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่นจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนุมะ (Kesennuma) ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นิฮอนมัสซึ (Nihonmatsu) ขนาดกำลังผลิต 12 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิราคาวะ (Shirakawa) ขนาดกำลังผลิต 10 เมกะวัตต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการลงทุนรวม 3,389 เมกะวัตต์เทียบเท่า

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/2565 อีกด้วย

นายกิรณ กล่าวว่า การลงทุนต่อเนื่องในเวียดนามครั้งนี้ เป็นตอกย้ำการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ที่มุ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความมุ่งมั่นในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ โดยมาจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และสอดคล้องตามหลัก ESG (สิ่งแวดล้อม, สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี) เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกประเทศที่เราดำเนินธุรกิจ