HoonSmart.com>> “พาณิชย์” เผยส่งออกเดือนธ.ค.เติบโต 24.2% ดีกว่าคาด ส่วนทั้งปี 64 ขยายตัว 17.1% ทะลุเป้าหมาย พร้อมตั้งเป้าปี 65 ส่งออกขยายตัว 3-4% รับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลาย จับตาเงินเฟ้อ โควิด
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งงอกเดือน ธ.ค.2564 ขยายตัวได้ 24.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 24,930 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกทั้งปี 2564 ขยายตัวถึง 17.14% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.71 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งทะลุเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้
ขณะที่การนำเข้าในเดือน ธ.ค.2564 ขยายตัว 33.4% มีมูลค่า 25,284.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และทั้งปี 2564 ขยายตัว 29.8% มีมูลค่า 2.68 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ไทยขาดดุลการค้าในเดือน ธ.ค.2564 มูลค่า 354.2 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ทั้งปี 2564 เกินดุลการค้า 3,573.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
ด้านตลาดส่งออกที่เติบโตสูงในเดือนธ.ค.64 เช่น ออสเตรเลีย ขยายตัว 54.4% รัสเซีย และกลุ่ม CIS ขยายตัว 45.8% สหรัฐอเมริกา ขยายตัว 36.5% ลาตินอเมริกา ขยายตัว 36.5% อาเซียน ขยายตัว 35% แอฟริกา ขยายตัว 34% และตะวันออกกลาง ขยายตัว 29.5%
เป็นผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยฟื้นตัวดีขึ้นภาคการผลิตทั่วโลกขยายตัวดีขึ้นและเงินบาทยังอ่อนค่าอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการส่งออก 5.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น
สำหรับปี 2565 ตั้งเป้าการส่งออกขยายตัว 3-4% มูลค่า 2.79 – 2.82 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีการนำเข้าสินค้าเพิ่มมากขึ้น ค่าเงินบาทยังอยู่ในระดับที่เอื้อกับการส่งออก ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มคลี่คลาย และคาดว่าจะเข้าสู่สมดุลได้ในช่วงกลางปี รวมทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยหนุนความต้องการสินค้ากลุ่มไอที ซึ่งไทยมีความสามารถในการผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ ขณะที่ความรุนแรงของสถานการณ์โควิดทั่วโลกลดลง ซึ่งทำให้ลดอุปสรรคในการเจรจาการค้าลง รวมถึงข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 65 จะมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศสมาชิก RCEP มีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากอัตราภาษีเป็น 0%
อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทยได้ เช่น สถานการณ์ระบาดของโควิดในทั่วโลก, ปัญหา Supply chain disruption, อัตราเงินเฟ้อของต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน