UN Women ร่วม ‘ก.ล.ต.-มูลนิธีคีนันเอเชีย’ ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภาคธุรกิจ

HoonSmart.com>> UN Women จัดงานสัมมนา Inclusive Leadership means Better Business เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคธุรกิจ ร่วมกับสำนักงาน ก.ล.ต. และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย


องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) และสหภาพยุโรป ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (Kenan Foundation Asia) ร่วมจัดงานเสวนา “Inclusive Leadership means Better Business” ในวันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 16.00 – 18.00 ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทาง Zoom และ Facebook Live

งานสัมมนาครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้ภาคธุรกิจตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของคนทุกเพศ รวมทั้งเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมมิติทางเพศ ซึ่งจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นในศักยภาพของคนทุกเพศและการพัฒนานโยบายองค์กรให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อันเป็นแนวทางสู่การเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุนและธุรกิจไทย

ในช่วงกล่าวเปิดงาน จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวถึง พันธกิจของสหภาพยุโรป (EU) ในการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมทางเพศ

“สหภาพยุโรปมุ่งมั่นส่งเสริมให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้จริง ด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศในตลาดแรงงาน ค่าตอบแทน และความรับผิดชอบในการดูแลครอบครัว ตลอดจนบทบาทในการเป็นผู้นำองค์กรและสังคมในด้านต่าง ๆ เป้าหมายของเราคือ การสร้างสหภาพ และโลกที่คนทุกเพศได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมในการเจริญก้าวหน้า และเป็นผู้นำ” จูเซปเป บูซีนี รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย

ซาร่าห์ นิบบซ์ รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การ UN Women สำนักงานภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ได้กล่าวถึงองค์กรภาคธุรกิจที่มุ่งมั่นในการส่งเสริมด้านความเท่าเทียมทางเพศ “แนวทางการปฏิบัติที่ดีขององค์กรที่ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนหลักการสร้างเสริมศักยภาพสตรีนั้นสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้นำทางธุรกิจยุคใหม่ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีในระยะยาวในประเด็นดังกล่าวได้

นอกจากนี้ นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้ให้เกียรติกล่าวปาฐกถาพิเศษ เพื่อส่งเสริมบทบาทของผู้นำสตรีในองค์กรภาคธุรกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำทางเพศ ซึ่งช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนของตลาดทุน และเศรษฐกิจไทย

“การส่งเสริมความหลากหลายในคณะกรรมการบริหารที่มีผู้หญิงมากขึ้น เพื่อช่วยสร้างพลังของทีมและการสร้างสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ ที่เหมาะสมนั้นสำคัญต่อการสร้างโอกาสเพื่อให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม กล้าทำในสิ่งที่ตัวเองคิดว่าทำได้ ไม่ต้องรอโอกาส แต่ต้องแสดงพลังและศักยภาพที่ตนเองมี ในขณะเดียวกัน ผู้นำองค์กรควรสร้างพื้นที่ เพิ่มโอกาสและเสริมศักยภาพเพื่อให้ผู้นำหญิงพัฒนาและใช้ศักยภาพของตนเอง เพื่อก้าวเข้าสู่บทบาทคณะกรรมการขององค์กรต่อไป” นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว

“สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ดำเนินนโยบายในด้านการเสริมสร้างบทบาทสตรี (women’s empowerment) รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำในภาคตลาดทุน ตามแนวแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือแผน NAP และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มาอย่างต่อเนื่อง และเชื่อมั่นว่าความเท่าเทียมกันทางเพศจะส่งผลดีต่อธุรกิจและสังคมโดยรวม ทั้งนี้ การมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีจะช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างการมีส่วนร่วม สร้างการยอมรับจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (stakeholder) ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน” นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าว

พร้อมกันนี้ ผู้บริหารขององค์กรที่ได้รับรางวัล UN Women 2021 Thailand WEPs Awards ในสาขาต่าง ๆ 4 ท่าน ยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนตัวอย่างแนวทางปฏิบัติการส่งเสริมความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ

● พลตรีพัชร รัตตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาผู้นำองค์กรที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ (Leadership Commitment)

● นายปรีดา บุญศิลป์ กรรมการผู้จัดการ วิทยาลัยเทคโนโลยีไออาร์พีซี บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 สาขาการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านกิจกรรมชุมชนและอุตสาหกรรม (Community Engagement & Partnerships)

● นายโชคชัย อัศวรังสฤษฎ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานบริหารและพัฒนาศักยภาพองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 สาขาสถานที่ทำงานที่มีความเท่าเทียมทางเพศ (Gender Inclusive Workplace)

● นายปิยนนท์ วัฒนะจรรยา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เจ้าของรางวัลชนะเลิศ สาขาความโปร่งใสและการรายงาน (Transparency and Reporting)

การเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อประกาศเจตนารมณ์และนำเสนอแนวทางที่แต่ละองค์กรปฏิบัติในการลดช่องว่างระหว่างเพศและส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางให้องค์กรอื่น ๆ ในภาคธุรกิจไทยได้นำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม ซึ่งธุรกิจที่ปฏิบัติตามแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศจะเติบโตมั่นคงในระยะยาว ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

ในช่วงท้ายของงาน คุณหญิง ชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ได้ให้เกียรติกล่าวปิดงานพร้อมตอกย้ำความสำคัญของความเท่าเทียมทางเพศในองค์กร ที่จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ธุรกิจแห่งอนาคตและสังคมที่เท่าเทียม