HoonSmart.com>>ทริสคงอันดับเครดิต “กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ” ที่ระดับ “A” ตอกย้ำความเป็นผู้นำธุรกิจผลิตไฟฟ้า 3,929 MW คาดปี 70 พุ่งเป็น 8,005 MW กระจายความเสี่ยงลงทุนที่ดี ทั้งใน-ต่างประเทศ แตกไลน์ธุรกิจใหม่ หนุน 3 ปี (65-67)รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.11 แสนล้านบาทจาก 4.6 หมื่นล้านบาท กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี เพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านจาก 1.9 หมื่นล้านบาท จะได้รับเงินปันผลจาก INTUCH 3-4 พันล้านบาทต่อ ลดแรงกดดันภาระหนี้
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ระดับ “A” และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ที่ระดับ “A-” แนวโน้มอันดับเครดิตยังคง “คงที่”
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือกฟผ. แต่อันดับเครดิตลดทอนลงจากความเสี่ยงในการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศและการมีภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต สถานะเป็นผู้นำตลาด บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ณ เดือนพ.ย. 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินงานแล้วอยู่ที่ 3,929 เมกะวัตต์ (MW) หลังจากพัฒนาโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้วในปี 2570 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 8,005 MW ตามกลยุทธ์การเติบโตและโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างพัฒนา เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาของภาคเอกชนในประเทศไทย โรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว และโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนาม บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ทริสยังไม่ได้นำโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนามและการเข้าซื้อโครงการต่าง ๆ เข้ามารวมในประมาณการ
นอกจากนี้บริษัทมีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี มีโรงไฟฟ้ามากกว่า 30 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยหลัก 93% หรือขนาด 7,469 เมกะวัตต์ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ส่วนที่เหลืออีก 536 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมถึงกระแสเงินสดคาดการณ์ได้ บริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญา มีอายุ 25 ปี
บริษัทมีประวัติผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่น่าเชื่อถือ โดยคณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการมีประสบการณ์มากว่า 20 ปี ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงเกินกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย โดยบรรเทาความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการผ่านการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง เช่น Toyo Engineering Corporation และยังใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง อาทิ Siemens รวมทั้ง GE และ Mitsubishi เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างเหมาะสมราบรื่น รวมถึงยังมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุง จัดหาอะไหล่ระยะยาว อายุเท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า สามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
บริษัทมีการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโต ริเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวม 229 MW ในประเทศเวียดนาม ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง (107 MW) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 1 แห่ง (122 MW) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนั้นมีผลงานที่น่าพอใจในช่วงปี 2562-2563 แต่การผลิตและรับซื้อในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564ถูกจำกัดจากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าที่ลดลงชั่วคราวในช่วงโควิด ขณะเดียวกันยังประสบปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จากการจำกัดการเดินทางและการปิดเมือง ในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้มีเพียงประมาณ 4 MWจากทั้งหมด 122 เมกะวัตต์ที่สามารถเปิดดำเนินงานได้ทันกำหนด ขณะที่ที่เหลืออีกจำนวน 118 MW อาจไม่ได้รับราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT ที่ดีเช่นเดิม แต่ทริสก็คาดว่าการไฟฟ้าเวียดนาม(EVN) จะขยายกำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างของโครงการให้
บริษัทยังได้ซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งหนึ่งที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้วในประเทศเยอรมนี ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ 232 MWในช่วงปลายปี 2563 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ต่ำกว่าที่ทริสคาดอยู่เล็กน้อย เนื่องจากกระแสลมมักมีกำลังอ่อนตามฤดูกาลในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ในระยะยาวเนื่องจากพลังงานลมโดยธรรมชาตินั้นมีความผันผวน
ขณะเดียวกันยังมีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไป เพื่อสร้างโอกาสเติบโต บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 5,000-6,000 MW จากโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เงินลงทุนในต่างประเทศคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10%-20% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัท
อย่างไรก็ตาม โครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศมักมีความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม เช่นการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ
บริษัทมีการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ๆ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล เช่น อยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ( PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โครงการมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท บริษัทร่วมทุนจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปี หลังโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จในปี 2567 นอกจากนี้บริษัทยังกำลังพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ฐานะผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การซื้อหุ้นจำนวน 42.25% ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ยังเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มรายได้จากเงินปันผลแต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ประโยช์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บริษัท ไทยคม (THCOM) อีกด้วย อาจช่วยสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าได้หากภาครัฐมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงในอนาคต
บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับ สิงเทล ร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกลุ่ม Binance (BINANCE) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ทั้งนี้ การร่วมมือกันน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมการประสานพลังทางธุรกิจดังกล่าวไว้ในประมาณการ
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้และกระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากแรงหนุนของโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยที่มีกำหนดการเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2564-2567 โดยทริสคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,700 MW ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานรวม เพิ่มขึ้นเป็น 1.11 แสนล้านบาทในปี 2567 จากประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (อีบิทดา)น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจำนวน 3-4 พันล้านบาทต่อปีจาก INTUCH ในช่วงปี 2565-2567 ทำให้แรงกดดันจากภาระหนี้จะลดลง หนี้สินที่มีดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่ออีบิทดาเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 เท่า ณ เดือนก.ย.2564 จากประมาณ 6 เท่าในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่ออีบิทดาจะลดลงกลับไปอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าในปี 2567 เนื่องมาจากกระแสเงินสดของโครงการโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนใหม่ ๆ ได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ งบลงทุนรวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า ณ เดือนก.ย.2564 บริษัทมีหนี้เงินกู้รวมทั้งสิ้น 2.19 แสนล้านบาท ซึ่งจำนวน 1.64 แสนล้านบาทถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งทริสคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานคาดจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้รวมกันจำนวน 8.2 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทสำหรับเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมบริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่าตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ ทั้งนี้ ณ เดือนก.ย.2564 อยู่ที่ 1.9 เท่า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาประมาณการ