บจ.ฟาดกำไรเงินลงทุนหุ้น ตัวเล็ก-ใหญ่ แจกกำไรอู้ฟู่

HoonSmart.com>>บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ประเดิมโชว์กำไรไตรมาส 4/64 ออกมาดีเกินคาด มีกำไรสุทธิ 1,791 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.47% จากปีก่อน และเพิ่มขึ้น 14.81% จากไตรมาส 3 รวมทั้งปี 64 มีกำไรทั้งสิ้น 6,781 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% สาเหตุหลักมาจากธุรกิจตลาดทุน มีการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน ตลาดหุ้นสดใสปี 64 เพิ่มขึ้น 14.4% เฉพาะไตรมาส 4 บวก 3.23% หนุนราคาหุ้นในตลาดปรับตัวขึ้น บางบริษัทพุ่งแรงมากกว่า 1-2 เท่า หรือสร้างสถิติสูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท (all time high) ทำให้บริษัทต่างๆมีกำไรจากหุ้นคำนวณราคาตามตลาด (mark to market)

 

ในช่วง 2 ปีที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดโอกาสมากมายท่ามกลางวิกฤต มองเห็นบริษัทมีการปรับตัว ปรับโมเดลธุรกิจ เห็นได้ชัดเจนจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เพื่อกระจายความเสี่ยง และเร่งการเติบโตแบบยั่งยืน ลดการพึ่งพารายได้เดิม หาธุรกิจใหม่มุ่งสู่เมกะเทรนด์ หรือเพิ่มรายได้มากกว่า 1 ธุรกิจ ผ่านการขยายเครือข่ายพันธมิตรโดยไม่ต้องนับหนึ่งในการลงทุน โดยวิธีการซื้อ-ขายหุ้นบิ๊กล็อตราคาต่ำ การแลกหุ้น (สวอป) การซื้อกิจการมาต่อยอดให้ธุรกิจใหญ่โตยิ่งขึ้น

ในปี 2564 เกิดดีลที่สร้างความฮือฮา  อาทิ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เข้าซื้อหุ้น บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ประมาณ 42.25% มูลค่ารวม 4.86 หมื่นล้านบาท บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ซื้อกิจการบริษัท สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ (SF) มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท กลุ่มบีทีเอส ใช้บริษัท วีจีไอ (VGI) และบริษัท ยู ซิตี้ ( U) ซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท เจ มาร์ท (JMART) และบริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) รวม 1.9 หมื่นล้านบาท

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ประกาศแปลงสภาพกลายเป็นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (SCBX) จับมือกับบริษัทหลายแห่งต่อยอดธุรกิจ  อาทิ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ในการปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ใช้บล.ไทยพาณิชย์ ซื้อหุ้นบริษัท บิทคับ ออนไลน์ (bitkub) สัดสวน 51% มูลค่า 17,850 ล้านบาท บริษัท สยามแม็คโคร (MAKRO) รับโอนกิจการโลตัสส์ เพิ่มทุนขายผู้ถือหุ้นเดิมและประชาชนทั่วไป มูลค่า 5 หมื่นล้านบาท ผงาดขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในภูมิภาค

ดีลที่เกิดขึ้นช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง รวมถึงสถานการณ์แวดล้อมยังเอื้อประโยชน์ต่อบางธุรกิจ เช่น เดินเรือ เทคโนโลยี พลังงานและปิโตรเคมี ทำให้ราคาหุ้นพุ่งแรงหลายเด้ง ทั้งหุ้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่

หุ้น GULF โดดเด่นขึ้นมาก จากความคาดหวังประโยชน์ที่จะได้รับจากการ Synergy กับบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ และได้หุ้น ADVANC และบริษัทไทยคม (THCOM) ทางอ้อมด้วย โดยแหล่งข่าวจากวงการโบรกเกอร์คาดว่า GULF จะรุก Digital Economy ซึ่งจะได้มูลค่าจาก INTUCH มากถึงระดับ 8,000-10,000 ล้านบาทต่อปีได้ จากเดิมที่มองไว้ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ กัลฟ์ฯยังเตรียมจะซื้อกิจการอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า และสาธารณูปโภค ก็เริ่มเก็บเกี่ยวเงินลงทุนมากขึ้น จุดพลุให้ราคาหุ้น GULF สร้างสถิติสูงสุดใหม่ วันที่ 15 ม.ค. 2565 ปิดที่ 50.25 บาท พาร์ 1 บาท กระโดดขึ้นกว่า 450% เมื่อเปรียบเทียบกับการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก(IPO) ราคาหุ้นละ 45 บาท ที่พาร์ 5 บาท เมื่อปลายปี 2560

“หุ้น GULF ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 4/64 เพิ่มขึ้นถึง 10.24% ราคาปิดที่ 45.75 บาท จากไตรมาส 3 ปิดที่ 41.50 บาท สร้างกำไรให้กับผู้ถือหุ้นทุกราย โดยเฉพาะผู้ที่ซื้อตอน IPO อาทิ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ถือ จำนวน 220 ล้านหุ้น สัดส่วน 1.88% ธนาคารกรุงเทพ  (BBL) ถือ 148.5 ล้านหุ้น หรือ 1.27% และบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ถือ 19.4 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.9% ”

ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพยังมีพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่ สร้างกำไรพิเศษ เช่น ถือหุ้น RS จำนวน 50 ล้านหุ้น ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 23.30% และบริษัทกรุงเทพประกันชีวิต (BLA) จำนวน 130 ล้านหุ้น ราคาเพิ่มขึ้น 28.45% ในไตรมาส 4 ทั้งนี้ยังไม่รวมการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทในเครือ เช่น บล.บัวหลวง ที่ได้ประโยชน์จากภาวะตลาดหุ้นสดใส มีรายได้จากค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และค่าธรรมเนียมของธุรกิจวาณิชธนกิจเพิ่มขึ้น

ส่วนธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ก็มุ่งสู่ธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน ใช้บริษัทในกลุ่มร่วมลงทุนกับ บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ปล่อยสินเชื่อดิจิทัล  และในปี 64 ได้ซื้อหุ้น IPO ของบริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) จำนวน 577 ล้านหุ้น สัดส่วน 10 % ราคาหุ้นละ 1.95 บาท ซึ่งได้ผลตอบแทนที่สูงมาก ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรงถึง 4-5 บาท

ด้านบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) ที่มีความแข็งแกร่งด้านการเงินและเครือข่ายได้โอกาสหลายเด้ง บริษัทหลายแห่งเสนอขายหุ้นในราคาต่ำให้ ช่วยเติมพอร์ตลงทุนให้มีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อมีกำไรก็ขายทำกำไรออกไป อาทิ บริษัท คอมเซเว่น (COM7) บริษัท ฮิวแมนิก้า (HUMAN) จากที่เคยซื้อจำนวน 85 ล้านหุ้น หรือ 12.51% ราคาเพียง 7.70 บาท/หุ้น เมื่อสิ้นปี 2564 เหลือหุ้นอยู่ 4.897% ราคาปิดที่ 12.20 บาท เพิ่มขึ้น 14.02% เทียบกับไตรมาส 3

นอกจากนี้ยังมีกำไรเป็นกอบเป็นกำจากการใช้ VGI-U ซื้อ JMART ในราคาหุ้นละ 30.337 บาท สิ้นปี 64 ปิด 57.50 บาท U ซื้อ SINGER ในราคา 36.3005 บาท ได้วอร์แรนต์ด้วย ปี 64 ปิด 53 บาท

ที่สำคัญยังมีการร่วมมือต่อยอดธุรกิจสร้างความแข็งแกร่งของอาณาจักร บีทีเอสจับมือกับกลุ่มเจมาร์ทขยายทุกธุรกิจที่มีโอกาส ใช้ VGI ร่วมทุนกับบริษัท ฮิวแมนิก้าและบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) หรือ AEONTS ปล่อยสินเชื่อดิจิทัล ก่อให้เกิดประโยชน์ในการ  Synergy ในระยะยาว แล้วอยางนี้ราคาหุ้นจะยืนอยู่ในระดับปัจจุบันนี้ได้อย่างไร