ตลาดเกิดใหม่เปราะบางลงทุกวัน

โลกของการลงทุนดูเหมือนจะเปราะบางลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ เห็นได้จากหลายประเทศกำลังประสบกับปัญหาอันใหญ่หลวง และยังหาทางออกไม่เจอ ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากค่าเงินอ่อนลงอย่างรุนแรง พร้อมแรงเทขายทรัพย์สินออกมามาก สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ก่อให้เกิดความกังวลว่าอาจจะลุกลามขยายวงกว้างกระทบตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย

ดังนั้นนักลงทุนอย่านิ่งนอนใจ แม้ว่าประเทศไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากการมีทุนสำรองระหว่างประเทศ และดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ในระดับสูง แม้ว่าไม่ตกเป็นเป้าโดยตรง แต่อาจจะโดนหางเลขจนทำให้ซวนเซบ้างไม่มากก็น้อย

ปัจจัยลบที่เข้ามากระทบเกือบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าที่ยืดเยื้อ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ส่งสัญญาณว่าอาจจะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนเป็นครั้งที่สาม อีก 2 แสนล้านดอลลาร์ในสัปดาห์นี้ รวมถึงนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐ เริ่มส่งผลกระทบทางอ้อมกับหลายประเทศ อาทิ ยอดการผลิตของเยอรมนีขยายตัวลดลงในเดือน ส.ค. และการส่งออกของไทยไปสหรัฐเมริกาในเดือนก.ค.2561 หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 21 เดือน

ขณะที่ปัญหาทางการเงินของประเทศเกิดใหม่ก็ยังไม่สงบลง เมื่อวันที่ 3 ก.ย.2561 สำนักงานสถิติตุรกีรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อเดือนส.ค.เพิ่มขึ้น 17.9% จากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้น 15.8% จากเดือนก.ค.ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางตุรกีต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และค่าเงินลีราอยู่ที่ 6.5 ต่อดอลลาร์สหรัฐ นับว่าอ่อนค่าลงมาเกือบ 2% ภายในวันเดียว หลังจากเงินเฟ้อทะยานขึ้นสูงสุดในรอบปี โดยเฉพาะภาคการขนส่งที่พุ่งขึ้นถึง 27.13% ขณะที่ราคาอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ ขยับขึ้น 19.75%

ส่วนประเทศที่อยู่ใกล้บ้านเรา เมื่อวันที่ 3 ก.ย. เช่นเดียวกัน ค่าเงินรูเปียห์ของอินโดนีเซียร่วงลงแตะ 14,777 เทียบดอลลาร์สหรัฐ ดิ่งลงระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2541 หรือในรอบกว่า 20 ปี และทรุดลง 8.93% จากต้นปีนี้ ธนาคารกลางอินโดนีต้องเซียเข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดพันธบัตรเมื่อวานนี้

สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนพากันเทขายเงินรูเปียห์หันกลับไปถือครองดอลลาร์ เพราะความวิตกเกี่ยวกับการขาดดุลงบประมาณ และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้รูเปียห์อยู่ในกลุ่มที่ปรับตัวย่ำแย่ที่สุดในภูมิภาคในช่วงที่ผ่านมา

แม้ว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะพยายามแก้ปัญหา โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งนับตั้งแต่เดือนพ.ค.และใช้ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเข้าซื้อรูเปียห์ ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ใช้มาตรการสกัดการนำเข้าสินค้า เพื่อควบคุมการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แต่ดูเหมือนว่าจะไร้ผล

มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลอินโดนีเซียจำนวน 41% อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ หากรูเปียห์อ่อนค่าลงต่อไป ก็จะส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินรูเปียห์มากขึ้นในการชำระหนี้พันธบัตร

เมื่อเร็วๆนี้ ค่าเงินรูปีของอินเดียร่วงลงไปต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และค่าเงินเปโซของอาร์เจนตินาร่วงหนักต่อ แม้ว่าเดินหน้าเข้าไปขอรับความช่วยเหลือจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ ไอเอ็มเอฟ เมื่อช่วงต้นปีนี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อรัฐบาลออกมาเรียกร้องให้ ไอเอ็มเอฟ เร่งอนุมัติเงินให้ความช่วยเหลือจำนวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ขอไปก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ตลาดขาดความเชื่อมั่น กดดันให้ธนาคารกลางอาร์เจนตินาต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยจาก 45% เป็น 60%

นักวิเคราะห์ของบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ประเทศอาร์เจนตินา, ตุรกี, อิตาลี ยังถูกกดดันด้วยปัญหาเศรษฐกิจและการเงิน แม้ว่าอาร์เจนตินาจะพึ่งพาไอเอ็มเอ็มแล้ว คาดว่าประเด็นนี้จะเป็นลบต่อจิตวิทยาการลงทุนในระยะสั้น แต่ไม่น่ากระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ตลาดเกิดใหม่รอบนี้ดูเหมือนว่านักลงทุนต่างประเทศจะแยกแยะประเทศไทยออกมาชัดเจน เมื่อเห็นว่าเป็นหลุมหลบภัยที่ดี จึงนำเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นของไทยสูงกว่าภูมิภาค เช่น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการซื้อตราสารหนี้ไทยสุทธิถึง 2.56 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยังมีการขายหุ้นไทยออกเล็กน้อยอย่างต่อเนื่อง ทำให้เดือนส.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย จนผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาส่งสัญญาณว่ากำลังติดตามการไหลเข้าของเงินทุนอย่างใกล้ชิด หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ก็หวังว่าปัญหาทางการเงินของตลาดเกิดใหม่จะไม่พ่นพิษใส่ประเทศไทยมากนัก เป็นเพียงการเผชิญกับสภาพคลื่นลมไม่สงบเท่านั้นเอง

แต่อะไรก็มีความไม่แน่นอน ขณะนี้ยังมีเวลาให้นักลงทุนเตรียมกระสุนให้พร้อม เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต!