HoonSmart.com>> โบรกเกอร์ค้านเก็บภาษีหุ้น ผลกระทบรุนแรง หวั่นสภาพคล่องหาย 30-50% มาร์เก็ตแคปวูบ กระเทือน IPO รายใหญ่ผลักภาระให้บล.นำไปสู่การลดคอมมิชชั่น ด้าน “ภากร” เอ็มดีตลาด ออกโรงฝาก 3 ข้อคิดถึงรัฐ เพื่อลดผลกระทบต่อการลงทุน ส่วนการนำมาตรการแคชบาลานซ์ที่ปรับปรุงใหม่ รอก.ล.ต.เคาะ คาดใช้ในไตรมาส 1/65
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ มีมุมมอง 3 ประเด็น กรณีรัฐเตรียมพิจารณาจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น (Financial Transaction tax) ประกอบด้วย 1. ความเหมาะสมของอัตราการจัดเก็บภาษี 2. ประเภทของการซื้อขายที่ควรจัดเก็บภาษี และ 3. ควรมีระยะเวลาการประกาศบังคับใช้ เพื่อให้โอกาสนักลงทุนทราบล่วงหน้า และเตรียมตัวรองรับมาตรการภาษีที่จะนำมาใช้ หรือพิจารณาช่วงเวลาในการจัดเก็บภาษีให้มีความเหมาะสม
ส่วนผลกระทบจากการการจัดเก็บภาษีครั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการปรึกษาและประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนหลายครั้งแล้ว และได้เสนอแนวทางที่เหมาะสมให้ภาครัฐได้รับทราบไปหมดแล้ว
ขณะที่สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประชุมกรรมการ วันที่ 13 ม.ค.นี้ เพื่อหารือก่อนยื่นหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เช่นกัน โดยไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีหุ้น ซึ่งมีผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดทุน
แหล่งข่าวจากผู้บริหารบริษัทหลักทรัพย์ว่า วันที่ 14 ม.ค.2565 สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะมีการประชุมสมาชิกตามวาระปกติ คาดว่าจะมีการหยิบยกเรื่องการจัดเก็บภาษีขายหุ้นมาหารือด้วย ซึ่งหากกรมสรรพากรจะประกาศใช้การจัดเก็บในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย 1 ล้านบาท/ เดือนจริง จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยและธุรกิจหลักทรัพย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่องที่จะคาดว่าจะหายไปประมาณ 30-50% และมาร์เก็ตแคปที่จะลดลง เพราะจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อการเสนอขายหุ้นให้กับประชนครั้งแรก(IPO) และการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน เพื่อนำไปขยายการลงทุน จะได้ราคาต่ำ และขายยากขึ้น รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะลดลงด้วย ตามมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ลูกค้ารายใหญ่ที่มีอำนาจต่อรองสูง ก็อาจจะผลักภาระให้กับบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลดค่าคอมมิชชั่นลงอีกครั้ง จากปัจจุบันที่คิดจากลูกค้ารายใหญ่ในอัตราต่ำ เฉลี่ย 0.10-0.15%% บริษัทหลักทรัพย์มีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นรวมถึงผลกำไรลดลง ผู้แนะนำการลงทุนหรือ IC ก็อยู่ไม่ได้ อาจจำเป็นต้องเดินออกจากอาชีพนี้ และบริษัทจะต้องลดขนาดของระบบงานหลังบ้าน (back office) ลงด้วย
อย่างไรก็ตาม สมาคมบล.มอบหมายให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย นำเรื่องการศึกษาผลกระทบการจัดเก็บภาษีขายหุ้น และข้อเสนอให้รัฐพิจารณา
นอกจากนี้ น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะโฆษก คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ออกมาโพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว ตั้งคำถามการเก็บภาษีหุ้น-ภาษีคริปโต ช่วยประเทศหรือไล่นักลงทุน อีกทั้งมีการล่ารายชื่อคัดค้านการเก็บภาษี จากกลุ่มผู้ห่วงใยเศรษฐกิจ ด้วยเช่นกัน
นางสาวปวีณา ศรีโพธิ์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกำกับตลาด ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึงการใช้มาตรการกำกับการซื้อขายที่มีการปรับปรุงใหม่ หรือแคชบาลานซ์ใหม่ ที่จะห้ามการซื้อขายขึ้นเครื่องหมาย SP หุ้นที่ร้อนแรงผิดปกติว่า อยู่ระหว่างเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พิจารณาอีกครั้ง โดยคาดว่าจะประกาศใช้มาตรการใหม่ภายในไตรมาส 1/2565 หลังจากได้ข้อสรุปจากการเปิดรับฟังความเห็นเมื่อปลายปี 2564
สำหรับการปรับปรุงมาตรการกำกับการซื้อขาย มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุนกรณีการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีสภาพการซื้อขายไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขบางประการในการซื้อขายหลักทรัพย์