“คอมลิงค์-นิติพล ชัยสกุลชัย “ขายบิ๊กล็อต TNITY 23.24%

HoonSmart.com>>”ทรีนีตี้ วัฒนา”เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่  “ณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์” และ”สุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์” 2 นักลงทุนใหญ่  ซื้อหุ้น 14.92%  ต่อจากคอมลิงค์-นิติพล  TNITY  นับเป็นโฮลดิ้งที่มีธุรกิจหลักทรัพย์เป็นแกน เปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ ตาม บล.ฟินันเซีย ไซรัส หลังสรรพากรจ้องเก็บภาษีขายหุ้น ทำสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดวูบ  คนวงการคริปโทเคอร์เรนซีนัดเคลียร์เก็บภาษีกำไร

บริษัททรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) มีการซื้อขายรายการบิ๊กล๊อต จำนวน 49,829,300 หุ้น มูลค่าซื้อขาย 418.57 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 8.40 บาท/หุ้น ต่ำกว่าราคาในตลาดปิดที่  11.50 บาท วันที่ 7 ม.ค. 2565

นาย ชาญชัย กงทองลักษณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัททรีนีตี้ วัฒนา ลงนามในจดหมายแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 และ 2 ได้ขายหุ้นจำนวน 23.42% คือ นาย นิติพล ชัยสกุลชัย ถือหุ้นจำนวน 38 ล้านหุ้น สัดส่วน17.77% ได้ขายหุ้นบางส่วนจำนวน 21.80 ล้านหุ้น หรือ 10.17 % และบริษัท คอม-ลิงค์ ถือ 28 ล้านหุ้น สัดส่วน13.07% ได้ขายหุ้นทั้งหมด

ส่วนผู้ซื้อหุ้นได้แก่ นายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ จำนวน 22 ล้านหุ้น สัดส่วน 10.26% นายสุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ ซื้อ 10 ล้านหุ้น 4.66% นาย วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการบริษัท ซื้อ 8 ล้านหุ้น 3.73% และผู้ถือหุ้นรายย่อย 3 ราย ซื้อ 9.83 ล้านหุ้น 4.58% ทั้งนี้ ไม่มีผู้ลงทุนรายใดถึงเกณฑ์ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารหรือการดำเนินธุรกิจหลักของบริษัท

ทั้งนี้นาย ณัฐพงศ์ และนายสุทธิพจน์เป็นนักลงทุนรายใหญ่  โดยนาย ณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ ถือหุ้นใหญ่ที่สุด บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี ( SIMAT)จำนวน 56 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.70% และถือหุ้น บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ (OTO) อันดับสองจำนวน 96 ล้านหุ้น สัดส่วน 17.14% ส่วนนายสุทธิพจน์เคยเข้าซื้อหุ้น บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) จำนวน 29.20 ล้านหุ้น 5.021% ที่ราคา 6.25 บาทมูลค่า 182.50 ล้านบาท เมื่อกลางปี 2564   ปัจจุบันไม่มีรายชื่อติดผู้ถือหุ้นใหญ่แล้ว

สำหรับบริษัท ทรีนีตี้ วัฒนา ดำเนินธุรกิจโฮลดิ้ง มีธุรกิจหลักทรัพย์เป็นหลัก นับเป็นบริษัทแห่งที่ 2 ที่มีการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหญ่ในช่วงนี้ บริษัท ฟินันซ่า ฟันด์ แมเนจเม้นท์ (FFM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฟินันซ่า (FSS) ได้ขายหุ้นบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) ทั้งหมด  170 ล้านหุ้น หรือ 29.29% ในราคาหุ้นละ 4.07 บาท มูลค่าทั้งสิ้น 693 ล้านบาท ให้แก่บริษัท PILGRIM FINANSA INVESTMENTHOLDING PTE. LTD ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ในสัปดาห์นี้ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์จะมีการประชุมสมาชิก เพื่อรวบรวมข้อมูลทำหนังสือถึงกรมสรรพากร ในการคัดค้านการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น ทั้งนี้ภาษีที่จะจัดเก็บคาดว่าจะมีผลต่อสภาพคล่องของตลาดหุ้นลดลงประมาณ 20-30% ขณะที่คนในวงการตลาดทุนคาดว่าจะกระทบมากถึง 50% และยังมีต่อเนื่องถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม และการระดมทุนในอนาคต เช่นการขายหุ้น IPO และการเพิ่มทุนของบริษัทจดทะเบียน

ส่วนกรณีที่กรมสรรพากรจะจัดเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน คริปโทเคอร์เรนซี  ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายลดลง ซึ่งคนในวงการนำโดย bitkub Zipmex  จะเข้าพบเพื่อสร้างความชัดเจนในการจัดเก็บภาษี