SCN ร่วมทุน ‘ชิซูโอกะ ก๊าซ’ หนุนโฮลดิ้งแกร่ง รายได้ปีนี้ 2,100 ลบ.

HoonSmart.com>>ปี 2565 นับเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของบริษัทสแกน อินเตอร์ (SCN) ที่จัดทัพเป็นโฮลดิ้ง เริ่มต้นด้วยการลงนามสัญญาขายหุ้นบริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น(TJN) ให้กับ บริษัท ชิซูโอกะ ก๊าซ ( Shizuoka Gas ) ที่มีอายุมากกว่า 110 ปี เป็นบจ.ในตลาดหุ้นโตเกียว ยอดขายสูงติดอันดับ 4 ของประเทศญี่ปุ่น ช่วยสร้างธุรกิจแก๊สของบริษัทก้าวขึ้นสู่ระดับสากล

ขณะที่โรงไฟฟ้าโซลาร์ที่เมียนมาเดินหน้าลงทุน คาดเฟส 2เสร็จกลางปี ธุรกิจซ่อมรถเมล์ให้ขสมก. ธุรกิจจำหน่ายไอทีและกัญชงดีขึ้น คาดปีนี้มีรายได้ร่วม 2,100 ล้านบาท 

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสแกน อินเตอร์ (SCN) เปิดเผยว่า บริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น มีบริษัทถือหุ้น 51% และ บริษัท ชิซูโอกะ ถือ 49% ดำเนินธุรกิจให้บริการพัฒนาคุณภาพ และจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ รวมถึงก๊าซธรรมชาติอัดสำหรับอุตสาหกรรม (iCNG) และก๊าซธรรมชาติเหลว (iLNG) ให้กับลูกค้าภูมิภาคต่างๆ บริษัทตั้งเป้าหมายภายใน 2 ปีนี้ จะมียอดขาย iCNG เพิ่มขึ้น จากเดิม 5,000 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อวัน เป็น 10,000 ล้านบีทียู (MMBTU) ต่อวัน คาดว่าจะสร้างรายได้ถึง 1,500 ล้านบาทต่อปี ส่วนแบ่งการถือหุ้น 51% รับรายได้ประมาณ 750 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มีประมาณ 500-600 ล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่นมีมูลค่า 639 ล้านบาท การขายหุ้นจำนวน 49% ในราคา 313 ล้านบาท SCN จะได้รับเงินสด จำนวน 313 ล้านบาท เข้ามาในบัญชีทันทีตั้งไตรมาส 1/2565

” บริษัทดำเนินงานมา 33 ปี โครงการนี้ถือเป็นโครงการแรกที่มีบริษัทต่างประเทศเข้ามาร่วมทุน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีเพราะได้บริษัทที่มีเทคโนโลยีและประสบการณ์การทำงานมากว่า 100 ปี มีพันธมิตรจำนวนมาก จากการลงทุนธุรกิจโซลาร์ในประเทศ และธุรกิจแก๊สในสิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เพียงแค่ลูกค้าของชิซูโอกะในปัจจุบันก็ช่วยให้เป็นเครือข่ายก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน นอกจากนี้บริษัทยังได้รับความสนใจจากบริษัทมากกว่า 5 แห่งในการเข้ามาร่วมลงทุนด้วย “นายฤทธีกล่าวว่า

ปัจจุบัน SCN ดำเนินธุรกิจโฮลดิ้ง พยายามกระจายความเสี่ยงธุรกิจออกจากธุรกิจก๊าซ  โดยร่วมทุนบริษัทช.ทวี ได้สัมปทานจัดหารถเมล์ NGV และดูแลซ่อมรถเมล์ ให้กับ ขสมก. มูลค่ามากกว่า 4,000 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นจากที่เคยมีปัญหาเสียถึง 15% สูงกว่าที่ขสมก.ยอมรับได้ทื่ 5% ปัจจุบันยอดเสียลดลงเหลือเพียง 0.8% รวมถึงธุรกิจด้านไอทีที่จำหน่ายให้กับกลุ่มลูกค้าภาครัฐ และเอกชน ธุรกิจด้านการขนส่งที่จะมีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในปีนี้ หลังจากช่วงปลายปีได้รับงานใหม่ ในการขนส่ง และผลิตก๊าซให้ ปตท. และจะช่วยผลักดันยอดขายก๊าซ

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ Minbu ในประเทศเมียนมา ปัจจุบันได้เดินหน้างานก่อสร้างปกติ จากก่อนหน้านี้ได้หยุดการพัฒนา เนื่องจากการระบาดโควิด-19 และรัฐประหาร คาดว่าประมาณกลางปี 2565 จะแล้วเสร็จในเฟสที่ 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และในปี 2566 แล้วเสร็จทั้งหมด 4 เฟส กำลังการผลิตรวม 220 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตจะมุ่งขยายธุรกิจพลังงานในเมียนมาต่อเนื่อง ทั้งนี้โครงการ Minbu  ให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 12% สัมปทาน 30 ปี คืนนี้ทุนภายใน 8-9 ปี สร้างรายได้ประจำให้บริษัท

บริษัทได้วางงบลงทุนไว้ราว 350 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการขยายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์ รูฟท็อป) เพิ่มอีก 10 เมกะวัตต์ เงินลงทุน 300 ล้านบาท และธุรกิจกัญชงครบวงจร งบลงทุน 50 ล้านบาท คาดว่าในเดือนม.ค.นี้จะได้ใบอนุญาต ทั้งนี้ธุรกิจกัญชงมีอัตรากำไรสูงกว่าธุรกิจแก๊ส โดยรวมทำให้ผลประกอบการดีขึ้น