HoonSmart.com>> “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงสุดรอบ 10 ปี คาดกระทบค่าใช้จ่ายด้านอาหารของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นราว 8-10% มองราคาเนื้อหมูพุ่งปัญหาจากโรคระบาด ต้นทุนดำเนินการสูงขึ้น ด้านเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงหมูลดลง ประกอบกับกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ประเมินราคาเนื้อหมูตลอดทั้งปีกรอบ 190-200 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อน อาจดันราคาเนื้อไก่ขยับตาม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงปลายปี 2564 ที่ผ่านมา แม้ยังคงไม่ได้ฟื้นตัวกลับสู่ระดับเดิมก่อนโควิด-19 แต่กลับเริ่มเห็นสัญญาณการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อ สะท้อนผ่านราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคที่ปรับเพิ่มขึ้น ทั้งราคาพลังงานและอาหารสด โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรที่ปรับตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี โดยราคาเนื้อสุกร (เนื้อแดง) ล่าสุดขยับมาอยู่ที่ราวกิโลกรัมละ 200 บาทและคาดว่าราคาอาจจะขยับสูงขึ้นอีก ส่งผลให้ผู้ประกอบการขายปลีกเนื้อสุกร (หมูเขียง) โดยเฉพาะรายย่อย และผู้ประกอบร้านอาหารหลายรายเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว จนต้องทยอยปรับเพิ่มราคา หรือแม้กระทั่งชะลอ/หยุดขายชั่วคราว
อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ราคาเนื้อสุกรในปี 2565 ที่เพิ่มสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากทั้งปัญหาโรคระบาดในสุกร ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมัน ต้นทุนค่าอาหารสัตว์ที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งยังมีต้นทุนในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในฟาร์ม และการลดลงของเกษตรกรเลี้ยงสุกรรายย่อย ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนปริมาณเนื้อสุกรในตลาด ประกอบกับ Pent-up demand ภายหลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ต่างผลักดันให้ราคาเนื้อสุกรในปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงครึ่งแรกปี 2565 ราคาเนื้อสุกรจะยังยืนสูงและอาจปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีนและช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายใต้สมมติฐานที่การระบาดของโควิดในประเทศไม่รุนแรง ขณะที่มาตรการต่างๆ ของภาครัฐมีส่วนช่วยบรรเทาสถานการณ์ได้บ้าง แต่คงต้องรอจนกว่าผลผลิตสุกรรอบใหม่จะเริ่มทยอยเข้าสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง ราคาเนื้อสุกรจึงจะย่อตัวลง
ทั้งนี้ คาดว่า ราคาเนื้อสุกรเฉลี่ยตลอดทั้งปีจะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม นอกจากนี้ ราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืชก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อทั้งผู้ประกอบการขายปลีก โดยเฉพาะรายย่อย ร้านอาหาร ตลอดจนผู้บริโภคที่มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารต่อคนต่อเดือนเพิ่มขึ้น 8-10% ท่ามกลางภาวะที่ค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ก็เริ่มมีสัญญาณปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน