MFC : S&P 500 posted third straight year of double-digit returns

Highlighted Funds

: เรามองว่าหุ้นเติบโตคุณภาพดี (Quality Growth Stock) จะให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด เนื่องจากหุ้นประเภทนี้มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ อีกทั้งยังทนกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี

M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เหมาะสมกับภาวะตลาดในปัจจุบันที่มีความผันผวนสูง

MRENEW : ลงทุนในหุ้นที่เกี่ยวข้องกับพลังงานยั่งยืนและพลังงานทดแทนทั่วโลก (Renewable Energy) ซึ่งเป็นธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนเม็ดเงินของรัฐบาลต่างๆทั่วโลก เราคาดว่าธีมพลังงานสะอาดจะเป็น Mega Trend ที่เติบโตต่อไปอีกในทศวรรษหน้า

MEURO : ตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯดัชนี S&P500 นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกกว่าเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี STOXX600 และดัชนี S&P500 อยู่ที่ -2S.D.

Investment Strategy

ในปี 2564 ดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐฯปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ (All-Time High) โดยให้ผลตอบแทนทั้งปีที่ 27% ซึ่งทำผลตอบแทนในระดับ 2 digit เป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2564 – 3 ม.ค.2565 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญกับปัจจัยกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าระดับ 100,000 รายต่อวัน แต่ดัชนี S&P500 ก็ยังสามารถให้ผลตอบแทนเป็นบวกได้ที่ +6.28%

และหากพิจารณาผลตอบแทนเป็นรายอุตสาหกรรม จะพบว่าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด 4 อันดับแรกได้แก่ 1.) Consumer Staples +10.40% 2.) Real Estate +10.16% 3.) Utilities +8.15% และ 4.) Health Care +7.97% บ่งชี้ว่าเริ่มมีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive มากขึ้นเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มวัฏจักรที่ปรับตัวขึ้นเด่นในช่วงต้นปีที่ผ่านมา

เรามองว่าสาเหตุที่ทำให้หุ้นกลุ่ม Defensive ปรับตัวขึ้นมากกว่าตลาดในเดือนที่ผ่านมาเนื่องจากราคาค่อนข้าง laggard เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ และอีกสาเหตุหนึ่งมาจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวในระยะข้างหน้า รวมถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ สะท้อนได้จากดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐฯ (IHS Markit) ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 58.3 จุดในเดือน พ.ย. มาที่ระดับ 57.7 จุดในเดือน ธ.ค. ซึ่งนับเป็นการปรับตัวลงจากจุดสูงสุด 5 เดือนติดต่อกัน

ดัชนี PMI ภาคการผลิตที่รายงานโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนในเดือน ธ.ค. ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 50.1 จุด ในเดือน พ.ย. ขณะที่ดัชนี PMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 52.7 จุดเพิ่มขึ้นจากระดับ 52.3 จุดในเดือน พ.ย. สะท้อนภาคการผลิตและภาคบริการของจีนยังคงมีการขยายตัวแม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เข้มงวดจากรัฐบาลจีน