กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : หนึ่งในกลไกสำคัญสร้างความมั่นคงระบบบำนาญไทย

โดย..นางศิษฏศรี นาคะศิริ
ผู้อำนวยการ ฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

เมื่อไม่นานมานี้มีการเผยแพร่ผลงานวิจัยของไทยและต่างประเทศเกี่ยวกับการเกษียณอายุ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อบริบทของไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด จึงขอถือโอกาสนำมาเล่าสู่กันฟัง

งานวิจัยของต่างประเทศ – Mercer CFA Institute Global Pension Index 2021: Pension reform in challenging times

บริษัท Mercer ได้เผยแพร่รายงาน Mercer CFA Institute Global Pension Index 2021 ซึ่งเป็นการจัดอันดับประสิทธิภาพและวิเคราะห์ระบบบำเหน็จบำนาญของแต่ละประเทศทั่วโลกทั้งหมด 43 ประเทศ (คิดเป็นจำนวนมากกว่า 65% ของประชากรโลก) โดยประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ด้วยคะแนน 40.6 ใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า โดย Mercer ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยและประเทศอื่นที่มีคะแนนใกล้เคียงกันปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญ โดยส่งเสริมให้ลูกจ้างเข้าร่วมระบบบำเหน็จบำนาญมากขึ้น ให้ครอบคลุมประชากรวัยทำงานทุกภาคส่วน ซึ่งอาจจัดให้มีการออมภาคบังคับหรือระบบจัดการให้ลูกจ้างเข้าเป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติ (auto enrollment) อีกทั้งเพิ่มความช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีเงินไม่เพียงพอ โดยอาจปรับเกณฑ์อายุเกษียณให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่ประชากรมีอายุขัยมากขึ้น ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้ทำงานเพื่อให้มีเงินออมมากขึ้น และปรับปรุงธรรมาภิบาลของระบบบำเหน็จบำนาญภาคเอกชนให้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัยของไทย – ดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณ: การจัดทำและการประยุกต์ใช้เชิงนโยบาย

ทางด้านงานวิจัยของไทยซึ่งเป็นการศึกษาและจัดทำดัชนีความพร้อมเพื่อการเกษียณของไทย หรือ Retirement Readiness Index (RRI) โดย รศ. ดร. พรอนงค์ บุษราตระกูล และคณะผู้วิจัยจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ความพร้อมของคนไทยในการเกษียณอายุ ซึ่งพิจารณาจากความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิต และความมั่นคงทางการเงิน ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางดี โดยมีความมั่นคงด้านคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับดี แต่ความมั่นคงทางการเงินกลับอยู่ในระดับปานกลางค่อนไปทางต่ำ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ความไม่มั่นคงทางการเงินเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ไม่มีความพร้อมเพื่อการเกษียณอายุนั่นเอง

คณะผู้วิจัยจึงได้เสนอให้ภาครัฐให้ความสำคัญกับนโยบายการปฏิรูปที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางการเงิน และควรจัดตั้งหน่วยงานหรือคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อกำหนดกรอบนโยบายของกองทุนการออมเพื่อการเกษียณแต่ละกองทุนอย่างบูรณาการ มีนโยบายที่ชัดเจน เชื่อมโยง และมีประสิทธิภาพ เพราะในที่สุดแล้วระบบบำเหน็จบำนาญที่ดีจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจและลดปัญหาด้านการคลัง

การออมการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุของลูกจ้างในไทย

จากสถานการณ์ความไม่เพียงพอของการออมเพื่อการเกษียณอายุในประเทศไทยที่เกิดขึ้น กระทรวงการคลัง จึงได้ยกร่าง พ.ร.บ. กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เพื่อส่งเสริมให้ลูกจ้างมีการเก็บออมเพื่อการเกษียณและมีรายได้หลังเกษียณที่เพียงพอในการดำรงชีพซึ่งเป็นการออมภาคบังคับสำหรับลูกจ้างในระบบทุกคน และเปิดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund: PVD) ที่มีคุณสมบัติเทียบเท่ากองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (Qualified PVD)

เช่น มีอัตราเงินสะสมและเงินสมทบไม่ต่ำกว่า กบช. กำหนด ให้ลูกจ้างที่มีอายุ 15-60 ปี เป็นสมาชิกโดยอัตโนมัติเมื่อมีการตั้งกองทุน (auto enrollment) และกำหนดให้สมาชิกลงทุนในนโยบายสมดุลตามอายุ (life path) โดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่สะดวกเลือกนโยบายการลงทุนเอง เพื่อให้ Qualified PVD สามารถเป็นหนึ่งในกองทุนทางเลือกภายใต้การออมภาคบังคับสำหรับนายจ้างที่ได้จัดตั้ง PVD เพื่อเป็นสวัสดิการให้ลูกจ้างด้วยความสมัครใจมาก่อนแล้ว

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ในฐานะนายทะเบียน PVD และเป็นหน่วยงานกำกับและพัฒนาธุรกิจ PVD จึงอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นการประเมินผลสัมฤทธิ์และการปรับปรุง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ เพื่อทำให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นส่วนหนึ่งของการออมภาคบังคับได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่เว็บไซต์ www.sec.or.th จนถึงวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2565 นี้

สำหรับเพื่อนสมาชิกและท่านผู้อ่านที่สนใจข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการออมเพื่อเกษียณอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออมการลงทุนผ่านกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถศึกษาได้จากเว็บไซต์ www.ThaiPVD.com

หมายเหตุ : ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์