“จุฬางกูร” กินรวบ NOK รวม 52.3%

“กลุ่มจุฬางกูร” ถือหุ้นนกแอร์ทั้งหมด 52.3% ข้ามเส้นเทคโอเวอร์กิจการ หลังจาก”หทัยรัตน์” ซื้อเพิ่มเป็น 10% ตอกย้ำความเชื่อมั่นธุรกิจ ก่อนหน้านี้ปล่อยกู้บริษัท 500 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกัน ‘ไทยกรุ๊ป’ประชุมบอร์ดนัดพิเศษ จับมือทำธุรกิจ เพื่อเป้าหมายมีกำไรออกจากแผนฟื้นฟู

นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK)รายงานการได้มาหุ้น NOK จำนวน 0.05% ส่งผลให้มีหุ้นทั้งหมด 10.04% ของทุนชำระแล้ว เมื่อวันที่ 31 ส.ค.2561

ทั้งนี้ นางหทัยรัตน์ ถือหุ้นรวม 10.04% แสดงว่ามีการซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2561 เป็นผู้ถือหุ้น จํานวน 9.22% วันที่ 5 มี.ค.2561 ถือหุ้นสัดส่วน 7.08% เมื่อรวมหุ้นของลูกชาย 2 คน คือ นายณัฐพล จุฬางกูร ถือมากที่สุดจำนวน 23.77% และนายทวีฉัตร จุฬางกูร อีกจำนวน 18.49% ส่งผลให้กลุ่มจุฬางกูรถือหุ้นทั้งหมด 52.30% ของทุนเรียกชำระแล้ว ส่งผลให้เข้าเกณฑ์การครอบงำกิจการหรือเทคโอเวอร์นกแอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มจุฬางกูรขอผ่อนผันการจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นทั่วไป (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หลังจากได้ใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเกินสิทธิการถือหุ้น ในราคาหุ้นละ 2.40 บาท แถมฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น (วอร์แรนต์)

ขณะที่บริษัทการบินไทย (THAI) ยังคงถือหุ้น NOK สัดส่วน 21.80 %

การที่นางหทัยรัตน์ได้ซื้อหุ้นเพิ่มจำนวน 0.05% ในวันที่ 31 ส.ค. ซึ่งราคาหุ้น NOK ปิดที่ 2.32 บาท เป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในกิจการ หลังจากนางหทัยรัตน์เพิ่งให้บริษัทกู้ยืมเงินจำนวน 500 ล้านบาท โดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินอัตราดอกเบี้ย 6% ต่อปี ขณะที่บริษัทฯ ไม่ได้วางหลักประกันแต่อย่างใด แม้ว่านกแอร์มีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจนเข้าเกณฑ์เครื่องหมาย C ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการให้ส่วนทุนกลับมาเป็นบวก และบริษัทยังมีปัญหาขาดสภาพคล่องด้วย

นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบิน นกแอร์ กล่าวกับ www.hoonsmart.com ว่า การที่กลุ่มจุฬางกูรใส่เงินเพิ่มทุนให้นกแอร์ และยังให้นกแอร์กู้ สะท้อนให้เห็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่มีความมั่นใจและตั้งใจลงทุนระยะยาว พร้อมให้การสนับสนุนบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาของบริษัทฯ นายประเวชกล่าวว่า ไม่มีแผนใหม่ นกแอร์ยังคงดำเนินธุรกิจตามแผนเทิร์นอะราวด์ พลิกฟื้นธุรกิจในช่วง 3 ปี (2560- 2562) เพื่อหยุดการขาดทุนก่อนที่ธุรกิจเดินหน้าเติบโตต่อไป ซึ่งหลายอย่างค่อยๆดีขึ้น

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ บริษัท การบินไทย กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) วันที่ 12 ก.ย.นี้ บริษัทการบินไทยจะเสนอที่ประชุม พิจารณายุทธศาสตร์บริหารจัดการการบินไทยและบริษัทที่อยู่ในเครือของการบินไทย หรือไทย กรุ๊ป ให้กลับมามีผลกำไรและสามารถออกจากแผนฟื้นฟูกิจการได้

สำหรับไทย กรุ๊ป ประกอบด้วย บริษัทการบินไทย สายการบินนกแอร์ สายการบินไทยสไมล์ ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนัดพิเศษ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว ในเบื้องต้นจะบริหารเป็นเน็ตเวิร์ค จากที่ผ่านมาไม่มีการประสานอย่างใกล้ชิด

“เรื่องเงินทุนที่นกแอร์กำลังประสบปัญหานั้น จะต้องประสานกับผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทด้วย THAI ถือหุ้นในนกแอร์อยู่ 21% เท่านั้น แต่ในฐานะที่เราเป็นนักลงทุนต้องมั่นใจว่า จะทำอย่างไรให้นกแอร์มีการดำเนินงานดีขึ้น หากมีแผนฟื้นฟูกิจการที่ดี เราก็พร้อมที่จะช่วยเรื่องเงินทุน เพราะเงินจะไปพร้อมกับแผนฟื้นฟู”นายเอกนิติกล่าว

ก่อนหน้านี้ นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย กล่าวว่า ฐานะทางการเงินของนกแอร์ยังอยู่ในเกณฑ์ดี มีกระแสเงินสด และสามารถหาเงินมาใช้หนี้ได้ ส่วนที่ติดหนี้ทั้งหลายก็ไม่ได้ขัดสนอะไร

ส่วนเรื่องการเพิ่มทุนให้นกแอร์นั้น นางอุษณีย์ กล่าวว่า ขณะนี้นกแอร์ยังไม่ได้ร้องขอมา หากมีการร้องขอมาก็อยู่ที่นโยบายของบอร์ดว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่

ทั้งนี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม จะเข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทยแทนนางอุษณีย์ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.2561-31 ส.ค.2565