HoonSmart.com>>ปศุสัตว์ ยันจากกรณีที่มีข่าวประเทศไต้หวันมีการตรวจพบกุนเชียงที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ซุกซ่อนในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทย สันนิษฐานว่า เนื้อสุกรที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเสนอข่าวว่าประเทศไต้หวันมีการตรวจพบกุนเชียงที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่ซุกซ่อนในพัสดุไปรษณีย์ที่ส่งมาจากประเทศไทยนั้น กรมปศุสัตว์ได้เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าเป็นกุนเชียงที่ผลิตมาจากโรงงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แต่อย่างไรก็ตามกรมปศุสัตว์มิได้นิ่งนอนใจ โดยได้ดำเนินการตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่นำมาผลิตกุนเชียง และได้มีการเก็บตัวอย่างในสถานที่ผลิตดังกล่าวเพื่อตรวจหาเชื้ออหิวาต์แอฟริกาในสุกร โดยจากการสอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า เนื้อสุกรที่นำมาใช้ผลิตกุนเชียงน่าจะมีการลักลอบนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากยังไม่พบผลทางห้องปฏิบัติการจากการเฝ้าระวังภายในประเทศ รวมทั้ง ณ ปัจจุบันราคาเนื้อสุกรภายในประเทศมีราคาค่อนข้างสูง จึงมีความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตต้องการลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้วัตถุดิบที่มีราคาถูกลงจึงแอบลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาผลิตในประเทศไทย
กรมปศุสัตว์ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลด้านสุขภาพสัตว์ พบว่าทั่วโลกและมีแนวโน้มขยายเป็นวงกว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย ตามรายงานขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) สถานการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน ยังพบการระบาดของโรคในหลายประเทศ กรมปศุสัตว์ได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มแข็งต่อเนื่อง ในการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรและโรคระบาดร้ายแรงในสุกรหรือหมูป่าอย่างเข้มงวดในทุกพื้นที่ของประเทศไทย มีการควบคุมการเคลื่อนย้าย ทำการเก็บตัวอย่างเฝ้าระวังเพื่อการวินิจฉัยโรคในฟาร์มที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร และฟาร์มที่พบสุกรป่วยตายผิดปกติ ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลเป็นลบต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรทั้งหมด ซึ่งผลจากการดำเนินงานของกรมปศุสัตว์และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ ทำให้ ปัจจุบันยังไม่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรประเทศไทย
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในว่าการผลิตสินค้าปศุสัตว์ภายในประเทศไทยได้รับการตรวจสอบว่าปลอดภัยต่อการบริโภค และขอความร่วมมือสำหรับฟาร์มเกษตรกรรายย่อย ควรเน้นการปรับระบบการเลี้ยงให้สามารถป้องกันโรคได้ การห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม การฆ่าเชื้อก่อนเข้าฟาร์ม การกำจัดซากสุกร การป้องกันสัตว์พาหะต่างๆ การห้ามนำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การฆ่าเชื้อในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนมีข้อสงสัยหรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ สามารถแจ้งกรมปศุสัตว์ได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ