กนง.คงดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด เพิ่มเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 0.9%

HoonSmart.com>>กนง.ประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2564  มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 เป็นขยายตัว 0.9% จากเดิม 0.7% ปี 2565 ที่ 3.4% และ 2566 ที่ 4.7%

นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. ว่าคณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ต่อปี โดยประเมินเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ปรับขึ้นเป็นปัจจัยชั่วคราวจากราคาพลังงาน ส่วนการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

คณะกรรมการฯได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2564 ขยายตัว 0.9% จากเดิม 0.7% และขยายตัวต่อเนื่องในปี 2565 ที่ 3.4% และ 2566 ที่ 4.7% จากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ การฟื้นตัวในหลายสาขาธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนจะกระทบเศรษฐกิจในช่วงแรกของปี 2565 โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่ผลกระทบอาจรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์การระบาดและความเข้มงวดของมาตรการควบคุม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาด

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางคาดว่าจะอยู่ในกรอบเป้าหมาย และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2564 อยู่ที่ 1.2% ปี 2565 ที่ 1.7% และปี 2566 ที่ 1.4% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานโดยเฉพาะราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าจะคลี่คลายในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่ายังมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าคาดหากเงินเฟ้อโลกปรับสูงขึ้นเร็ว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในระดับสูง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิดที่อาจรุนแรงขึ้นและการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักภายใต้แรงกดดันเงินเฟ้อในระดับสูง ซึ่งต้องติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิดและควรผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

“คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยจะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น ซึ่งการปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจครั้งนี้ได้รวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดและผลกระทบจากการท่องเที่ยวแล้ว”