คนเลี้ยงหมูโอด !!! ต้นทุนสูงขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ขยับไม่หยุด

เกษตรกรเลี้ยงหมู แบกภาระล้น ต้นทุนพุ่ง หวังผู้บริโภคต่อลมหายใจ ชี้ยังมีทางเลือกบริโภคมากมาย

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย

น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร มีปัญหารุมเร้าจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต้นทุนการเลี้ยงสุกร สูงขึ้นถึง 25% เช่น  ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาสูงถึง 10.60 บาทต่อกิโลกรัม และเคยขึ้นไปถึง 11.45 บาท / กก.  , กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าราคาสูงถึง 19.50 บาทต่อกิโลกรัม และปลายข้าวราคาสูงถึงกระสอบละ 1,100 บาท

นอกจากนี้ ยังมีการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อป้องกันโรคในสุกรอย่างเข้มงวด  เกษตรกรต้องแบกรับตุ้นทุนอีกกว่า 400-500 บาทต่อตัว ขณะที่ ผลกระทบของโรคในสุกรทั้ง PRRS PED ฯลฯ ทำให้สุกรแม่พันธุ์เสียหายมากถึง 40% จากจำนวน 1.1 ล้านตัว เหลือเพียง 6.6 แสนตัว ส่งผลต่อเนื่องถึงปริมาณผลผลิตสุกรขุนปรับลดลงถึง 30% จากปี 2563 จากที่เคยมีจำนวนสุกรประมาณ 18-19 ล้านตัวต่อปี เหลือเพียง 15 ล้านตัวต่อปีเท่านั้น

“ภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากต้นทุนอาหารสัตว์ มาตรการป้องกันโรค  และปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการเลี้ยง ทำให้ค่าจ้างแรงงานต้องเพิ่มขึ้น และหลังจากนี้ยังต้องปรุงฟาร์ม เพื่อเข้าสู่ระบบฟาร์มมาตรฐาน และ GAP ที่กรมปศุสัตว์กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ  จำเป็นต้องใช้เงินทุนอีกมาก  เป็นภาระหนักของคนเลี้ยง และมีผลต่อการตัดสินใจเข้าเลี้ยงหมู ปริมาณหมูที่ลดลงสวนทางกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ กลไกตลาดจึงทำงานตามภาวะที่แท้จริง” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวอีกว่า ตลอดเวลา 3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกต้องแบกรับภาระขาดทุนมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงปีนี้  ประมาณการความเสียหายทั่วประเทศจากการขายสุกรขุนต่ำกว่าทุน อยู่ที่ 8,000-10,000 ล้านบาท กลายเป็นความกดดันที่มีต่อผู้เลี้ยง และมีผลต่อการตัดสินใจเข้าเลี้ยงสุกรรอบใหม่ โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ต้องหยุดเลี้ยงจากปัญหาด้านเงินลงทุน ผู้เลี้ยงรายกลางและรายใหญ่ต้องชะลอการเลี้ยง คาดว่า อุตสาหกรรมสุกรต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าที่การเลี้ยงจะกลับมาเต็มกำลัง 100%