HoonSmart.com>>‘บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของไทย ภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ ถือเป็น 1 ในหุ้นน้องใหม่สุดยอดของปี 2564 ที่ให้อัตราผลตอบแทนมากกว่า 150% ด้วยปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง คาดในปี 2565 สินเชื่อขยายตัว 30% จากสิ้นปี 2564 ที่มีพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 8,800 ล้านบาท และมุ่งเพิ่มพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักประกัน ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง NPLs ต่ำ พร้อมตั้งเป้าขยายสาขากว่า 100 แห่ง โดยมีแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำจากการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนครั้งแรก (IPO) ส่งผลให้กำไรเติบโตได้มากกว่ารายได้ สามารถสร้างอัตราผลตอบแทนที่ดีแก่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนในระยะยาว
‘บมจ. เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล’ หรือ HENG หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายใหญ่ของไทย ภายใต้แบรนด์ ‘เฮงลิสซิ่ง’ ประเมินดีมานด์ความต้องการสินเชื่อปี 2565 ขยายตัวต่อเนื่อง รับแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว เร่งปรับพอร์ตรุกผลิตภัณฑ์สินเชื่อจำนำทะเบียนรถเต็มสูบ หลังปีนี้ขยายสาขาเร็วกว่าแผนและเตรียมขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รับโอกาสลูกค้าต้องการเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพ ชี้ให้อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมี NPL ต่ำ คาดสัดส่วนรายได้จากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ณ สิ้นปี 65 เพิ่มเป็น 50-55% จากพอร์ตสินเชื่อโดยรวมทั้งปีตั้งเป้าขยายตัว 30%
‘บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล’ ได้รับการต้อนรับที่ดีมากจากนักลงทุน นับตั้งแต่เริ่มเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในวันแรก 19 ต.ค. 2564 มาจนถึงปัจจุบัน (9 ธ.ค.2564) เห็นได้จากราคาหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปิดที่ 5.05 บาท เมื่อเทียบกับราคา IPO ที่หุ้นละ 1.95 บาท นักลงทุนที่จองซื้อและถือมาจนถึงวันนี้ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 เดือนได้รับผลตอบแทนที่สูงมาก 158.97% ส่วนหนึ่งเกิดจาก ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ซื้อบิ๊กล็อตจำนวน 381 ล้านหุ้น ถือหุ้นสัดส่วน 10% ช่วยตอกย้ำปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และยิ่งมีความเชื่อมั่นมากขึ้น เมื่อเห็นกำไรสุทธิไตรมาสที่ 3/2564 ถึง112.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.72 ล้านบาท เติบโต 167.42% เทียบกับที่มีกำไรสุทธิเพียง 42.24 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันปีก่อน แม้ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงขึ้นก็ตาม ส่งผลให้รวม 9 เดือนปี2564 มีกำไรสุทธิ 222.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 213.24 ล้านบาท
แนวโน้มจะยังคงเติบโตได้อีกมาก จากการปรับโมเดลธุรกิจ มุ่งเน้นสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ)ให้อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้( NPLs) ต่ำ โดยลดสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อที่มีการแข่งขันสูง รวมถึงการเร่งเปิดสาขาใหม่ที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค เพื่อขยายฐานลูกค้าและพอร์ตสินเชื่อ
6 ธุรกิจ เพิ่มรายได้มั่นคง
ขณะเดียวกับโครงสร้างธุรกิจที่มีความหลากหลาย ถึง 6 ธุรกิจ คือ 1. สินเชื่อเช่าซื้อ 2. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 3. สินเชื่อที่มีบ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน 4. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน 5.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) และ 6. นายหน้าประกันวินาศภัยและประกันชีวิต ให้แก่ลูกค้ารายย่อยทั่วไป สร้างความสมดุลของพอร์ต และรายได้สามารถเติบโตได้ในทุกสภาวะการณ์ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้จากผลงานในช่วงปี 2563-2564 แม้ว่าจะเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 จนกระทบต่อเศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงก็ตาม
ปี 65 เป้าสินเชื่อรวมโต 30%
แนวโน้มปี 2565 ฟ้าหลังฝน ท้องฟ้าปลอดโปร่ง คาดเศรษฐกิจไทยจะมีโอกาสเติบโตมากกว่า 4% ต่อปี เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของธุรกิจ‘บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล’
นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัณฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ HENG เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อในปี 2565 มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง หลังภาครัฐคลายล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง ประชาชนมีความต้องการสินเชื่อเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนประกอบอาชีพ จึงเป็นโอกาส ‘เฮงลิสซิ่ง’ นำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีความหลากหลายเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ภายใต้แนวคิด ‘ใคร ๆ ก็กู้ได้’ ที่ช่วยสนับสนุนเป้าการขยายพอร์ตสินเชื่อรวมเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% จาก ณ สิ้นปี 2564 ที่คาดว่าพอร์ตสินเชื่อรวมกว่า 8,800 ล้านบาท
เพิ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเป็น 50-55%
ที่สำคัญบริษัทฯ ยังคงเน้นปรับพอร์ตสินเชื่อที่มีหลักทรัพย์หลักประกัน โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์สินเชื่อภายใต้การกำกับที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) รองรับลูกค้าที่ต้องการเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพในช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัว โดยนำจุดแข็งด้านเครือข่ายพันธมิตรเต็นท์รถมือสองที่มีกว่า 5,100 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเครือข่ายสาขาที่เพิ่มขึ้น ณ สิ้นปีนี้คาดว่าจะมี 529 สาขา เพิ่มขึ้นกว่าแผนเดิมที่วางไว้ 40 สาขา และในปี 2565 ยังเตรียมขยายสาขาใหม่อีกมากกว่า 100 สาขา เน้นทำเลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มโอกาสนำเสนอผลิตภัณฑ์ และผลักดันสัดส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากผลิตภัณฑ์ประเภทสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพิ่มเป็น 50-55% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 32% โดยยังคงยึดหลักเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อเป็นไปอย่างรัดกุม คำนึงถึงวงเงินสินเชื่อที่ลูกค้าต้องการ ความสามารถชำระค่างวดของลูกค้า อัตราดอกเบี้ย ช่วงระยะเวลาผ่อนชำระ หลักทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน เพื่อคงคุณภาพพอร์ตสินเชื่อโดยรวมให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
“ปี 65 เราปรับพอร์ตสินเชื่อ เร่งการขยายตัวสินเชื่อจำนำทะเบียนรถเพื่อสร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรมให้แก่ลูกค้า และยังให้อัตราผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่ออยู่ในเกณฑ์ที่ดีและมีหนี้ NPLs ในระดับต่ำ เพื่อรับกับโอกาสของตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงและจะขับเคลื่อนพอร์ตสินเชื่อโดยรวมที่เราตั้งเป้าเติบโต 30% ได้ตามแผน รวมถึงยังสร้างผลตอบแทนที่ดี เพื่อรับกับโอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้น” นางสุธารทิพย์ กล่าว
ส่วนแนวโน้มในปี 2566 บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการนำเงินที่ได้มาจากการเสนอขาย IPO เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ยืมบางส่วนจากสถาบันการเงิน นำไปพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น Software และ Mobile Application เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสินเชื่อและผลตอบแทนให้แก่บริษัท
บล.หยวนต้าคาดปี 65 กำไรพุ่งขึ้น 61.2%
บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) คาดทั้งปี 64 บริษัท HENG จะมีกำไรสุทธิ 338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.3% จากปีก่อน และเติบโต 61.2% เป็น 545 ล้านบาท ในปี 2565 หลังทยอยรับรู้ผลบวกจากจำนวนสาขาใหม่ที่เร่งตัวขึ้นมากในปลายปี 2564 (ณ สิ้นไตรมาส 3 มีสาขา 489 แห่ง) เพิ่มขึ้น 49 สาขาจากไตรมาสที่ 2 คาดรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวขึ้นหลังนำเงินไปชำระนี้เงินกู้ที่มีต้นทุนสูง และยังเหลือเงินที่มีต้นทุนต่ำบางส่วนเป็นเงินทุนหมุนเวียน ในการขยายธุรกิจในช่วง 1-2 ปี รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจ และเข้าสู่ช่วง High Season ของธุรกิจนายหน้าขายประกัน
บริษัทเดินหน้านโยบายเพิ่มพอร์ตสินเชื่อโต 3.4% จากไตรมาสที่ 2 ซึ่งยังเป็นตามแผนธุรกิจที่ปรับลดขนาดของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อลง 3% จากไตรมาสก่อน เน้นโตที่ฝั่งสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ+14% รวมถึง NIM ที่ขยับขึ้นเป็น 15.8% จาก 15% ในไตรมาสที่ 2 หลังลูกหนี้ภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินบางส่วนเริ่มกลับมาจ่ายค่างวดในระดับที่สูงจากไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาสูงกว่าเป้าหมายใหม่ที่ให้ 3 บาท จึงแนะนำเป็นเทรดดิ้ง จะต้องติดตามว่าบริษัทจะมีพัฒนาใหม่ ๆ ในเชิงธุรกิจอย่างไร