HoonSmart.com>>ธนาคารออมสินใหญ่ท็อปไฟว์เทียบแบงก์พาณิชย์ โชว์ความสำเร็จภารกิจ”ธนาคารเพื่อสังคม” ในปี 64 เสริมความยั่งยืนแบงก์-ลูกค้า-สังคม หั่นต้นทุนถาวรลงกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ดันกำไรพุ่งพรวด ตั้งสำรองสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.65 หมื่นล้านบาท ส่งรายได้เข้ารัฐสูงสุด 3 ปี มีเงินเหลือช่วยประชาชน ลดดอกเบี้ยในตลาด สร้างอิมแพคได้จริง ยกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ แผนปี 65 บุกธุรกิจใหม่ สินเชื่อที่ดิน-รับขายฝาก คาดดอกเบี้ย 8.9-9.99% สินเชื่อดิจิทัล เสนอผลิตภัณฑ์สร้างหลักประกันเพื่อเกษียณ ปล่อยกู้ดึงคนตกงานกลับเข้าสู่ระบบ แบงก์จ่อขายหนี้เสีย
นายวิทัย รัตนากร เข้ามารับตำแหน่งผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน มาเกือบ1 ปีครึ่ง เปิดเผยว่า ในช่วงแรกได้นำกำไรจากธุรกิจปกติมาสนับสนุนภารกิจธนาคารเพื่อสังคม (Social Bank) วางเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินที่เป็นธรรม โดยโฟกัสขยายลูกค้ารายย่อยจากฐากราก และ SME รายเล็ก ธนาคารมีการลดเกณฑ์ที่ไม่สามารถอนุมัติปกติได้ เพื่อปล่อยสินเชื่อให้รายละ 10,000 บาท ให้กับลูกค้าเกือบ 3 ล้านราย คิดดอกเบี้ยต่ำยอมขาดทุน
อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดสถานการณ์ไวรัสโควิดแพร่ระบาด ไม่สามารถขยายสินเชื่อได้ มีกำไรไม่มากเพียงพอมาสนับสนุน คาดในปี 2564 มีรายได้ดอกเบี้ย จำนวน 89,730 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 10,320 ล้านบาท จึงต้องหาทางลดค่าใช้จ่ายอย่างรุนแรงมาก ลดต้นทุนถาวรได้ทั้งสิ้น 12,259 ล้านบาท มาจากดอกเบี้ยจ่ายจำนวน 7,859 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 4,400 ล้านบาท เทียบกับปี 2562 ส่งผลให้ธนาคารมีกำไรมากกว่าปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด แถมยังมีเงินตั้งสำรองทั่วไปสูงเป็นประวัติการณ์คาดถึงจำนวน 3.6-3.7 หมื่นล้านบาทในสิ้นปีนี้ จะสามารถรองรับ NPLs ได้มากถึง 5.8 หมื่นล้านบาท และยังส่งรายได้เข้าคลังได้ราว 15,978 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 3 ปี มากเป็นอันดับ 4 จากรัฐวิสาหกิจ 58 แห่ง นับเป็นการดำเนินงานตามเป้าหมายระยะยาว ที่ดูแลลูกค้า สังคมและมีกำไรนำส่งเงินให้รัฐบาล
ขณะเดียวกันสามารถขับเคลื่อนภารกิจธนาคารเพื่อสังคมอย่างเต็มกำลัง นำเงินช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย และ SMEs ผ่านมาตรการเยียวยา ฟื้นฟู และเสริมสภาพคล่องอย่างครบวงจรอย่างต่อเนื่องจากปี 2563 จนถึงปัจจุบัน รวมแล้วกว่า 36 โครงการ ช่วยเหลือประชาชนได้ถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 1.8 ล้านล้านบาท รวมถึงการช่วยเหลือประชาชนจำนวนกว่า 2.61 ล้านคน ที่ไม่เคยมีประวัติการกู้เงิน ให้ได้มีสินเชื่อเป็นครั้งแรก ผ่อนปรนภาระหนี้ตามความสามารถในการชำระ เพื่อไม่ให้เสียประวัติ จำนวน 3.4 ล้านราย เป็นเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งธนาคารได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี
“ในช่วง 1 ปีครึ่ง ธนาคารออมสินเปลี่ยนแปลงขึ้นเยอะและชัดเจนมาก ไม่มีแบงก์ไหนที่เพิ่มสำรองอย่างรุนแรง จาก 4,000 ล้านบาทในปี 2562 เพิ่มเป็นกว่า 3 หมื่นล้านบาทปี 2564 ทำให้ออมสินเป็นแบงก์ที่แข็งแรงขึ้น และทำภารกิจได้ เราสาดเงินเข้าไปในระบบ 1-3 หมื่นล้านบาท สามารถหมุนได้อีก 1 วงจร ถ้าใครไม่มีรายได้ การได้สินเชื่อคนละ 1 หมื่นบาทพออยู่ได้ ส่วนคนที่ไม่เคยกู้เงินจากที่ไหนได้เลย อีก 2-3 ปีก็สามารถสร้างเครดิตได้ เป็นความภาคภูมิใจมาก แต่ถ้าดูแลไม่ดี ก็จะมีหนี้เสีย”นายวิทัยกล่าว
นอกจากนี้ยังต่อสู้กับปัญหาดอกเบี้ยแพง มีการดำเนินการปรับโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาด เช่นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ จากดอกเบี้ย 24% ลงมาเหลือ 14-18% สินเชื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ ดอกเบี้ยต่ำ 0.1-0.35% ซึ่งยังจะต้องปรับโครงสร้างดอกเบี้ยในตลาดลงให้จริง สร้างอิมแพคได้จริงต่อไป
ส่วนแผนงานปี 2565 ภายใต้จุดยืนธนาคารเพื่อสังคม มุ่งเน้นดำเนินการ 5 ภารกิจที่สำคัญ ประกอบด้วย
1.การสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะอาชีพ สนับสนุนเงินทุน และช่องทางการสร้างรายได้ ช่วยเหลือประชาชนที่ต้องออกจากการจ้างงานจากวิกฤติโควิดให้กลับเข้าสู่ระบบอีกครั้ง
2.ตั้งบริษัทย่อยทำโครงการสินเชื่อที่ดินและขายฝาก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา และหากได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการฯ จะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงกลางปี 2565 มุ่งเน้นสร้างกลไกเพื่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยให้มีความเหมาะสมเป็นธรรมสำหรับลูกค้ากลุ่มฐานราก คาดดอกเบี้ยไม่เกิน 15% จะทำเพียง 8.9-9.99% ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำเพราะโอนที่ดินมาให้แบงก์ อยากทำให้สำเร็จเหมือนจำนำรถจักรยานยนต์
3. การพัฒนา Digital Lending ให้สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อบนสมาร์ทโฟนด้วยแอป MyMo ให้สมบูรณ์ขึ้นด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล Alternative Data Analytic จากในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่าน MyMo ได้มากกว่า 1.5 ล้านราย วงเงินสินเชื่อรวมกว่า 24,000 ล้านบาท นับว่าธนาคารประสบความสำเร็จสามารถเติมเม็ดเงินช่วยเหลือประชาชนเป็นจำนวนมากด้วยระยะเวลาอันสั้น
4.การออกผลิตภัณฑ์เงินฝากออมสินเพื่อการเกษียณ ให้ดอกเบี้ยสูง เตรียมยกระดับการส่งเสริมการออมเพื่อการเกษียณ เพื่อให้ประชาชนกลุ่มฐานรากมีหลักประกันมีความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย
5.การขายหรือ โอนหนี้ของธนาคาร เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรฐานเดียวกันกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่น คาดว่ากฎกระทรวงจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับภายในปี 2565
ทั้งนี้ ณ เดือน พ.ย.2564 ธนาคารมีสินทรัพย์ 2.97 ล้านล้านบาท เงินฝาก 2.55 ล้านล้านบาท สินเชื่อ 2.26 ล้านล้านบาท ระดับ NPLs อยู่ที่ 2.56% และ BIS Ratio อยู่ที่ 15.82% ธนาคารออมสินมีขนาดใหญ่ติด 1 ใน 5 ของระบบธนาคารพาณิชย์