FETCO ลุ้นปี’65 กำไรบจ.โต 12% เงินไหลเข้า 1 แสนลบ. ดัชนี 1,800 จุด

HoonSmart.com>> “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย” เผยเป้าดัชนีปี 65 แตะ 1,800 จุด  มอง Fund Flow เข้าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ตลาดหุ้นไทย น่าสนใจ แนะกลุ่ม Reopening-ธนาคาร-Healthcare เสริมกลุ่ม Defensive ติดพอร์ต ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 19.9% แต่อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง”   กลุ่ม ICT เด่นที่สุด ด้านดอกเบี้ยยังคงระดับ 0.5%  อัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5-10 ปี ในไตรมาส 4/64 ทรงตัว

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยถึงทิศทางตลาดหุ้นในปี 2565 คาดว่ายังเป็นแนวโน้มขาขึ้น เป้าหมายดัชนีอยู่ที่ 1,8000 จุด ถึงแม้ว่าจะมีการลดวงเงินคิวอี และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯก็ตาม โดยปกติจะเป็นปัจจัยลบต่อตลาดเกิดใหม่ แต่หากมองตลาดหุ้นไทย ในปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจเติบโตประมาณ 4% ค่อนข้างจะเติบโตได้ดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆทั่วโลก ตามการฟื้นตัวของธุรกิจ โดยเฉพาะภาคบริการ ส่วนปี 2564  เศรษฐกิจเติบโตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก รวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เข้ามาเพิ่มเติมด้วย

อย่างไรก็ตามถ้าภาครัฐมีการควบคุมโควิด-19 ได้ดี  จำนวนนักท่องเที่ยวสูงขึ้น  จะส่งผลดีต่อดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวกได้ ประกอบกับประเทศไทยมีหนี้ต่างประเทศค่อนข้างน้อย และมีเงินสำรองระหว่างประเทศสูง รวมถึงค่าเงินบาทในปี 2564 เป็นจุดต่ำแล้ว จะเป็นปัจจัยบวกที่ดึงดูดเม็ดเงินต่างประเทศเข้ามาตลาดหุ้นไทย คาดว่าในปี 2565 ทิศทางเม็ดเงินต่างประเทศ (Fund Flow) จะเข้ามาเกิน 100,000 ล้านบาท อีกทั้งคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตประมาณ 12% จากปีนี้คาดว่าจะเติบโตประมาณ 50% เนื่องจากปีก่อนหน้าฐานค่อนข้างต่ำ

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง เชื่อว่ายังสามารถควบคุมให้อยู่ในระดับที่ต่ำบริเวณ 1-2%  ทำให้อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่ต่ำอยู่ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่เร่งรีบที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ย  จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย

“ปัจจัยที่ต้องติดตามหลักๆในช่วงนี้ คือโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ว่าการแพร่ระบาดจะรุนแรงหรือไม่ ซึ่งถ้ามีการแพร่ระบาดที่ต่างประเทศค่อนข้างรุนแรง ก็อาจจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐ ไม่เร่งที่จะขึ้นดอกเบี้ย และลดวงเงิน QE แต่ทั้งนี้โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ถึงแม้การระบาดมีอัตราการแพร่ที่ค่อนข้างรวดเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการ อาจจะยังไม่แรงเท่าโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้า ทำให้ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวบวกขึ้นมา ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ” นายไพบูลย์ กล่าว

ขณะที่กลุ่มหุ้นที่คาดว่าน่าจะได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจฟื้นตัว ได้แก่ กลุ่ม Reopening คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่มีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม Healthcare รวมถึงกลุ่ม Defensive แนะนำควรมีติดพอร์ต เพื่อกระจายความเสี่ยงในช่วงตลาดผันผวน

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือน พ.ย. 2564 พบว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 135.16 ลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้า แต่อยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” โดยความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลุ่มบุคคล กลุ่มสถาบันในประเทศ และกลุ่มต่างประเทศอยู่ในระดับ “ร้อนแรง” ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ในระดับ “ทรงตัว”

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีน และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยซึ่งฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศและการไหลออกของเงินทุน โดยนักลงทุนให้หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด ส่วนหมวดแฟชั่น (FASHION) ไม่น่าสนใจมากที่สุด

ด้านน.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่าในการประชุม กนง. ในเดือน ธ.ค.นี้ จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ส่วนดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 4 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.20% และ 1.9% ตามลำดับ

ผู้ตอบแบบสอบถามมีความเห็นผสมผสานทั้งในส่วนที่คาดว่าอัตราผลตอบแทนจะปรับตัวสูงขึ้นจากการปรับลดคิวอีของธนาคารกลางสหรัฐ และแรงกดดันจาก Supply พันธบัตรรัฐบาลที่มากขึ้น โดยปีนี้คาดว่าภาครัฐจะออกพันธบัตรใหม่ อีกไม่ต่ำกว่า 950,000 ล้านบาท ในขณะที่บางส่วนคาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจทรงตัวหรือลดลงจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากความกังวลเรื่องไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจทำให้เกิดภาวะ Risk-off และทำให้อัตราผลตอบแทนอาจปรับลดลง