บล.กสิกรฯหวังหุ้นฟื้น หาแนวต้าน 1,600 จุดสัปดาห์หน้า

HoonSmart.com>>บล.กสิกรไทยให้แนวรับ 1,575 และ 1,565 จุด แนวต้าน1,600 และ 1,610 จุด ติดตามสถานการณ์โควิดสายพันธุ์ใหม่ ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ส่วนค่าเงินบาทธนาคารกสิกรไทยคาดเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย มองหุ้นสัปดาห์ถัดไป (6-10 ธ.ค.)ว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,575 และ 1,565 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,600 และ 1,610 จุด ตามลำดับ

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ

ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ข้อมูลนำเข้าและส่งออกเดือนต.ค. รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ย. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3/64 ของญี่ปุ่นและยูโรโซน รวมถึงข้อมูลเศรษฐกิจเดือนพ.ย. ของจีน อาทิ ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภค ข้อมูลนำเข้าและส่งออก

หุ้นไทยร่วงลงในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,588.19 จุด ลดลง 1.39% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 98,285.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.03% ส่วนดัชนี mai ลดลง 0.88% มาปิดที่ 560.13 จุด

หุ้นไทยร่วงลงแรงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนและประสิทธิภาพของวัคซีน ประกอบกับมีแรงขายหุ้นไทยออกมาในช่วงที่มีการปรับน้ำหนักดัชนี MSCI (มีผลวันที่ 30 พ.ย.) อย่างไรก็ดี หุ้นไทยฟื้นตัวกลับมาได้บางส่วนช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางหุ้นต่างประเทศที่ได้แรงหนุนจากแรงซื้อตามปัจจัยทางเทคนิค ก่อนจะทรงตัวในกรอบแคบในช่วงที่เหลือของสัปดาห์ ระหว่างรอประเมินสถานการณ์โควิดสายพันธุ์โอไมครอน

สำหรับค่าเงินบาทสัปดาห์ถัดไป (6-10 ธ.ค.) ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวที่ 33.50-34.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ

เงินบาทอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามสถานะขายสุทธิพันธบัตรและหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงต้นสัปดาห์ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 หลังสายพันธุ์กลายพันธุ์โอไมครอนเริ่มระบาดในหลายประเทศ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนและดัชนี ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ซึ่งหนุนความเป็นไปได้ที่เฟดจะเร่งลดวงเงิน QE และอาจตามมาด้วยการส่งสัญญาณคุมเข้มมากขึ้น หลังประธานเฟดเปิดเผยว่า เงินเฟ้อสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะทรงตัวสูงเป็นเวลานานกว่าที่เคยประเมินไว้

ในวันศุกร์ (3 ธ.ค.) เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 33.87 หลังระหว่างวันอ่อนค่าไปที่ 33.99 ซึ่งเป็นระดับที่ทำไว้เมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา และเป็นสถิติอ่อนค่าสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค. 2560 เทียบกับระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (26 พ.ย.)