SCB CIO แนะกลยุทธ์รับโอไมครอนเน้น ”Healthcare, Technologyและหุ้นจีน”

HoonSmart.com>>SCB CIO ปรับกลยุทธ์ลงทุนรับโอไมครอน เน้น “ Healthcare, Technologyและ ตลาดหุ้นจีน” หนี “กลุ่มท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ น้ำมันและหุ้นอินเดีย”

นายศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (SCB CIO ) เปิดเผยว่าปัจจุบันนักลงทุนยังคงกังวลต่อประเด็นการพบผู้ติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนที่เพิ่มขึ้น แม้ยังไม่ถึงขั้นตื่นตระหนก ดังนั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปัจจุบันมี valuation ค่อนข้างแพง และ อยู่ในช่วงใกล้ปลายปีที่กิจกรรมการซื้อขาย (trading activity) จะลดลงประกอบกับเข้าใกล้เทศกาลวันหยุด จึงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ (side way) โอกาสที่ตลาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง จึงเป็นไปได้อย่างจำกัด

SCB CIO ประเมินสมมติฐาน เพื่อใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การลงทุน เพื่อเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์นี้เป็น 2 กรณี
1) กรณีเลวร้าย (Worse case) หากผลการศึกษา พบว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกัน ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ ทำให้เกิดการติดเชื้อโควิดซ้ำในคนที่ได้รับวัคซีน ครบทั้ง 2 โดสแล้วในวงกว้าง กรณีนี้ ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงต่อ โดยประเมินว่า จะลดลงได้ถึง -20% เพราะ panic sell

2) กรณีปกติ (Normal most likely case) วัคซีนยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกัน แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพที่ลดลง ซึ่งตลาดหุ้นจะถูกแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 กลุ่มคือ
– กลุ่มประเทศที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนต่อประชากร และเป็นประเทศผู้ครอบครองการผลิตวัคซีน ตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นได้บ้าง แม้ว่า upside จะอยู่ในวงจำกัด เพราะใกล้ปลายปี
– กลุ่มประเทศที่ไม่มี technology เรื่องวัคซีนเป็นของตนเอง และต้องรอการนำเข้า ตลาดหุ้นในประเทศกลุ่มนี้จะได้รับแรงกดดันอยู่ต่อไปจนถึงปีหน้า

สำหรับ การลงทุน SCB CIO แนะนำการลงทุนที่เป็นโอกาส และการลงทุนที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ การหาจังหวะเข้าลงทุน เมื่อตลาดฯ มีการปรับฐานจากความกังวลเรื่องโควิดในช่วงนี้ ได้แก่
– กลุ่ม healthcare
– หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มที่ได้อานิสงค์จากธีม work from home เช่น หุ้นกลุ่ม technology
– หุ้นหรือกองทุนในกลุ่มภูมิภาคที่จะมีความเสี่ยงเรื่องโควิดต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าประเทศหรือภูมิภาคอื่น เช่น สหรัฐฯ และ ยุโรป ทั้ง 2 แห่ง ยังเป็นตลาดฯ ที่มีหุ้นในกลุ่ม technology และกลุ่ม healthcare เป็นสัดส่วนที่สูง
– หุ้นหรือกองทุนในตลาดจีน เพราะมีความเสี่ยงเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าประเทศอื่น ในขณะที่ valuation ได้ปรับลดลงมามากแล้ว จากการปรับฐานในปีนี้
– การลงทุนในกลุ่มที่เป็นเทรนด์การเติบโตระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ได้แก่ หุ้นกลุ่มพลังงานทางเลือก EV car, Energy storage และ ESG
– หุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม technology infrastructure เช่น Digital platform, Fintech, Metaverse, 5G – 6G, Semiconductor

สำหรับหุ้นในกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในช่วงนี้ ได้แก่
– หุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวกับธีมการเปิดประเทศ (reopening) เช่น ท่องเที่ยว โรงแรม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
– หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในประเทศที่เศรษฐกิจมีการพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เช่น ตลาดหุ้นไทย
– หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในตลาดอินเดีย เพราะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่ valuation ของหุ้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างแพง
– หุ้นหรือกองทุนที่ลงทุนในน้ำมัน เนื่องจาก อุปสงค์และอุปทานมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการเกิด partial lock down จากการระบาดอีกครั้ง