HoonSmart.com>> “นอร์ทอีส รับเบอร์” ตั้งเป้าปี 65 รายได้แตะ 2.8 หมื่นล้านบาท มั่นใจผลงานปีนี้ 2.45 หมื่นล้านบาทตามเป้า ธุรกิจยางแนวโน้มโตต่อ ทั้งความต้องการและราคายางขาขึ้น ส่วนธุรกิจแผ่นปูนอนสัตว์ เริ่มผลิต ก.พ.65 ปีแรกสร้างรายได้ 500 ล้านบาท เตรียมตั้งตัวแทนขายเฟสแรก 13 ประเทศ ปักเป้าหมายใหม่ มุ่งสู่การผลิตสินค้ายางธรรมชาติปลายน้ำมากขึ้น ตั้งทีม R&D วิจัยต่อยอดสินค้าใหม่ๆ
นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายรายได้ปี 2565 อยู่ที่ระดับ 29,280 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจยางธรรมชาติ 28,780 ล้านบาท และธุรกิจแผ่นปูนอนปศุสัตว์ 500 ล้านบาท จากปี 2564 คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ 24,500 ล้านบาท
ขณะที่กำลังการผลิตใหม่อีก 50,000 ตัน จะเริ่มผลิตได้ในช่วงไตรมาส 1/2565 ส่งให้รวมทั้งปีอยู่ที่ 51,000 ตันต่อปี เพื่อรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทมียอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึงเดือน มี.ค.-เม.ย. ส่วนแนวโน้มราคายางธรรมชาติในปี 2565 คาดว่ายังอยู่ในระดับที่สูง และมีแนวโน้มปรับขึ้น จากปีนี้คาดว่าราคาจะเฉลี่ยอยู่ประมาณ 65-67 บาทต่อกิโลกรัม
นอกจากนี้หากปัญหาขาดแคลนชิปในรถยนต์เริ่มคลี่คลายลง บริษัทคาดว่ายอดขายรถยนต์ทั่วโลก จะมีทิศทางที่ดีเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทมีฐานลูกค้าอยู่ 26 รายทั่วโลก ส่วนลูกค้าใหม่ที่อินเดีย มีแนวโน้มเติบโตที่ดี หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงก่อน คาดว่ายอดขายที่ประเทศอินเดียจะเพิ่มเป็น 5% ของยอดขายรวม
ขณะเดียวกันธุรกิจแผ่นปูนอนปศุสัตว์จะเริ่มผลิตได้ในเดือน ก.พ.2565 บริษัทมีแผน 3 เฟส ในปี 2565-2566 ในเฟสแรก บริษัทจะเริ่มแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายใน 13 ประเทศ เฟสที่สองจะแต่งตั้งตัวแทนเพิ่มอีก 7 ประเทศ และเฟสสุดท้ายแต่งตั้งตัวแทนอีก 9 ประเทศ โดยคาดว่าปริมาณขายปี 2565-2567 อยู่ที่ 280,500 แผ่น , 565,000 แผ่น และ 675,600 แผ่น ตามลำดับ และมีรายได้จากการขายอยู่ที่ 503.92 ล้านบาท , 1,017.25 ล้านบาท และ 1,217.22 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับทิศทางที่บริษัทจะเดินไปข้างหน้าในอนาคต บริษัทมีแผนจะมุ่งสู่ธุรกิจผลิตสินค้ายางธรรมชาติสำเร็จรูปเป็นหลัก โดยได้ตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนา (R&D) เพื่อคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ คาดว่าจะเริ่มเห็นการเติบโตหลังปี 2566 เป็นต้นไป
ส่วนเงินลงทุนในปี 2565 บริษัทตั้งไว้ประมาณ 240 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนในโครงการ Solar Rooftop ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในโรงงาน ทดแทนการซื้อไฟฟ้า , ใช้ลงทุนในหน่วยงาน R&D ประมาณ 100 ล้านบาท และลงทุนติดตั้งหุ่นยนต์อัจฉริยะในโรงงาน ประมาณ 40 ล้านบาท เพื่อลดต้นทุนการใช้แรงงานคน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต
“เราได้วางแผนการทำธุรกิจ 5 ปีไว้เรียบร้อยแล้ว รวมถึงทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกันเราก็วางแผนที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี 2583 ด้วยการหันมาใช้พลังงานสะอาดในโรงงานมากขึ้น ส่วนโรงไฟฟ้าชุมชน เรามีความสนใจเข้าลงทุนน้อยลง เนื่องจากมองว่าการแข่งขันด้านราคาค่อนข้างสูง จากการที่มีผู้เล่นหลายราย” นายชูวิทย์ กล่าว