BPP ทุ่ม 394 ล้านบาท ลงทุนโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในเวียดนาม

HoonSmart.com>>BPP ทุ่มงบ 394 ล้านบาท ลงทุนโซลาร์ฟาร์มแห่งแรกในเวียดนาม กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ตอกย้ำการเติบโตพอร์ตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คาดรับรู้รายได้หลังไตรมาส 1/2565

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายผ่านบริษัท BRE Singapore Pte. Ltd (BRES) เพื่อลงทุนในบริษัท Ha Tinh Solar Power Joint Stock Company ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ ขนาดกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ ในจังหวัดฮาติ๋ญ ประเทศเวียดนาม มูลค่าการลงทุน 23.9 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 788 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนการลงทุนจาก BPP และบริษัท บ้านปู (BANPU) ในสัดส่วนที่เท่ากัน บริษัทละ 50% คิดเป็นเงินลงทุนส่วนของ BPP 11.95 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 394 ล้านบาท ทำให้ BPP มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุน 25 เมกะวัตต์ นับเป็นการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนผ่านการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนามเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ การลงทุนอยู่ระหว่างการปฏิบัติตามเงื่อนไขในสัญญา และรอการอนุมัติจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในไตรมา 1/2565

“การลงทุนของ BPP ในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ฮาติ๋ญ ในเวียดนาม เป็นการลงทุนครั้งแรกของบริษัทและเป็นการต่อยอดการเติบโตของพอร์ตพลังงานหมุนเวียนของ BPP ตามกลยุทธ์ Greener & Smarter ซึ่งยังมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่สูงและมีนโยบายสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนที่ชัดเจนจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังเป็นไปตามทิศทางการลงทุนของบริษัทฯ รวมทั้งมีข้อดีหลายประการ เช่น เป็นสินทรัพย์ที่เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว (Operating Asset) ตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2562 มีราคารับซื้อไฟฟ้า (FIT) ที่ 9.35 เซนต์สหรัฐ ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นอัตราที่ดี รวมทั้งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสายส่งให้แก่การไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity: EVN) ตามสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า (PPA) เป็นระยะเวลา 20 ปี”

และเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา BPP ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคเซนนุมะ (Kesennuma) ในญี่ปุ่น ขนาดกำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตตามไฟฟ้าสัดส่วนการลงทุนรวม 3,357 เมกะวัตต์เทียบเท่า โดยบริษัทฯ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์อีก 2 แห่ง ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ชิราคาวะ (Shirakawa) ในญี่ปุ่น กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ระยะที่ 1 ในเวียดนาม กำลังผลิต 30 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะ COD ในไตรมาส 1/2565

การลงทุนดังกล่าวตอกย้ำการเติบโตตามแผนกลยุทธ์ที่เน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเพื่อสร้างรายได้อย่างรวดเร็ว สะท้อนความมุ่งมั่นในการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ โดยมาจากพลังงานหมุนเวียน 800 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568