HoonSmart.com>>บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท เจรจาแบงก์เล็งร่วมทุนตั้งบริษัทบริหารหนี้ ได้ข้อสรุปไตรมาส 1 ปี 65 คาดปีนี้ซื้อหนี้บริหาร 5,000-6,000 ล้านบาท เตรียมออกหุ้นกู้ 5,000 ล้านบาท ปีหน้า รองรับซื้อหนี้
นายธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารรายหนึ่งในการตั้งบริษัทร่วมทุน (Joint Venture หรือ JV) เพื่อต่อยอดธุรกิจรับโอนหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) มาบริหาร แต่รอการปรับกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่ารูปแบบการร่วมทุนจะมีความชัดเจนในช่วงไตรมาส 1/65
การซื้อหนี้มาบริหาร ปีนี้สถาบันการเงินนำสินทรัพย์ หรือ NPL ออกมาขายน้อยมาก จากช่วงต้นปีคาดว่าอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท แต่ลดเหลือ 60,000 ล้านบาท จากมาตรการช่วยเหลือของธนาคารและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้การไหลของเอ็นพีแอลไม่ได้เพิ่มขึ้นสูง โดยไตรมาส 4 เป็นช่วงที่สถาบันการเงินนำหนี้ออกประมูลสูงที่สุด 20,000 ล้านบาท จาก 2 ธนาคารพาณิชย์ ทำให้ปีนี้ SAM ซื้อหนี้มาบริหารได้ประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท ปัจจุบันพอร์ตหนี้เสียที่บริษัทบริหารอยู่ประมาณ 3 แสนล้านบาท
ส่วนปริมาณหนี้เสียในปี 2565 นายธรัฐพร กล่าวว่า ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะมีมาตรการพักชำระหนี้ของธปท.ที่มีผลถึงสิ้นปี 2565 ทำให้หนี้เสียที่สถาบันการเงินจะมีการเปิดประมูลยังไม่เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ 1 แสนล้านบาท บริษัทมีเป้าหมายเข้าประมูลซื้อหนี้ 10% ของมูลหนี้เสียที่เปิดประมูลในปี 65
ส่วนแหล่งเงินทุนที่บริษัทจะนำมาใช้รองรับการเข้าซื้อหนี้มาบริหารนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งบริษัทยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินได้ค่อนข้างมาก และในปีหน้าบริษัทเตรียมออกหุ้นกู้วงเงิน 5,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการทำแผนการยื่นไฟลิ่งกับที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะออกได้อย่างเร็วภายในไตรมาส 2/65
สำหรับผลการดำเนินงาน ณ เดือนตุลาคม 2564 บริษัทเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ลูกค้าเอ็นพีแอลแล้ว 54,899 ราย คิดเป็นมูลค่าตามบัญชี 341,448 ล้านบาท และจำหน่ายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ได้ 10,496 รายการ ราคาประเมินทรัพย์ 51,914 ล้านบาท ส่วนการประมูลซื้อสินทรัพย์อยู่ที่ 16,569 ราย มูลค่าตามบัญชี 113,621 ล้านบาท
ส่วนคลินิกแก้หนี้มีจำนวนลูกค้าที่ผ่านคุณสมบัติและสมัครเข้าโครงการทั้งสิ้น 68,071 บัญชี คิดเป็นภาระหนี้เงินต้นตามสัญญา 5,163 ล้านบาท ทั้งนี้ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการในปี 2543 บริษัทนำเงินส่งคืนเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินแล้วประมาณ 2.55 แสนล้านบาท
“ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลหลังจากหมดมาตรการช่วยเหลือของธนาคารจะมีมากขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ (SM) ที่มีสูงถึง 5-6 แสนล้านบาท คาดการณ์ว่าเอ็นพีแอลใน ปี 2565 น่าจะมากกว่าปีนี้ที่แตะระดับ 6 หมื่นล้านบาท และน่าจะกลับแตะระดับ 1 แสนล้านบาทได้ภายในปี 66 โดย SAM ตั้งเป้ารับซื้อหนี้ประมาณ 10% ของหนี้ที่นำออกมาขาย”นาย ธรัฐพร กล่าว