“นกแอร์” ขาดทุนครึ่งปี 2,718 ลบ. หนี้พุ่งแตะ 2.8 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>> “สายการบินนกแอร์” รายงานงบครึ่งปีขาดทุนสุทธิ 2,718 ล้านบาท รายได้ลดลง 64% จากงวดปีก่อน ผลกระทบการแพร่ระบาดโควิดระลอกใหม่ ส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น 9.05% จากสิ้นปีก่อนแตะ 28,240.24 ล้านบาท ส่วนผู้ถือหุ้นติดลบ 10,720 ล้านบาท อยู่ระหว่างฟื้นฟูกิจการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขึ้น SP หุ้น เหตุผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นงบ

บริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดครึ่งปี สิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย.2564 ขาดทุนสุทธิ 2,717.90 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.73 บาท จากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 2,469.30 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.69 บาท

รายงานของผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเชื่อมั่นและมีข้อสังเกต/เรื่องอื่นเนื่องจาก 1.การขาดสภาพคล่องทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อการดำเนินงานของบริษัทและ 3.การเข้าสู่กระบวนการแผนฟื้นฟูกิจการ

ด้านงบรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีขาดทุนสุทธิครึ่งปีแรกจำนวน 2,717.94 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนสุทธิ 3,750.61 ล้านบาท ลดลง 27.53% โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,717.90 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.73 บาท ในขณะที่ปีก่อนขาดทุนต่อหุ้น 0.58 บาท

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวมทั้งสิ้น 1,200.91 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 2,166.70 ล้านบาท หรือ 64.3% สาเหตุสำคัญเนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารลดลง 1,843.09 ล้านบาท (63.1%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 306.30 ล้านบาท (73.7%) เนื่องจากมาตรการจำกัดการเดินทางต่างๆของรัฐบาล รายได้อื่นลดลง 17.30 ล้านบาท

สำหรับค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 3,918.85 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,506.18 ล้านบาท (27.8%) สาเหตุหลักเกิดจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิต และการดำเนินการเพื่อลดค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,717.94 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 1,032.67 ล้านบาท (27.5%)

บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 60.91% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 70.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 58.9% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 79.2% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวมทั้งสิ้น 0.67 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 68.10%

ทั้งนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ระลอกใหม่ ส่งผลให้บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของบริษัทมียอดลดลงแต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไป

ณ วันที่ 30 มิ.ย.2564 บริษัทและบริษัทย่อยมีหนี้สินรวม 28,240.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.05% จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 สาเหตุหลักมาจากบริษัทมีเจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่นเพิ่มขึ้น จำนวน 1,529.37 ล้านบาท และการตั้งประมาณการหนี้สินค่าซ่อมบำรุง และค่าปรับสภาพเครื่องบินเพิ่มขึ้น จำนวน 778.82 ล้านบาท

ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบจำนวน 10,720.10 ล้านบาท เปลี่ยนแปลงคิดเป็น 33.97% จาก ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 โดยเป็นของบริษัทใหญ่ติดลบจำนวน 9,718.42 ล้านบาท และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมติดลบอีกจำนวน 1,001.68 ล้านบาท เกิดจากผลการดำเนินงานที่ยังขาดทุน ซึ่งเป็นผลมาจากการแแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคโควิด-19

ด้านความคืบหน้าการฟื้นฟูกิจการ เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2564 ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนตามมติที่ประชุมของเจ้าหนี้ เมื่อวันที่ 4 ส.ค.2564 มีผลให้นายวุฒิภูมิจุฬางกูร, นายไต้ชอง อี, นายปริญญา ไววัฒนาและนายชวลิต อัตถศาสตร์ที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นผู้บริหารแผนซึ่งได้รับการถ่ายโอนอำนาจทั้งหมดจากผู้ทำแผน โดยผู้บริหารแผน 2 คนมีอำนาจลงนามร่วมกันเพื่อผูกพันบริษัท

ทั้งนี้ ผู้บริหารแผนจะมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของบริษัท รวมถึงบริษัทร่วม/ย่อย ตลอดจนการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการคือ การปรับโครงสร้างเงินทุน การชำระหนี้ตามกลุ่มของเจ้าหนี้และผลสำเร็จของแผนฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ การดำเนินการในระหว่างฟื้นฟูกิจการ บริษัทตระหนักถึงปัญหาด้านต่างๆ ที่ผ่านมา และพยายามแก้ไข ปรับปรุง รวมถึงได้ริเริ่มโครงการต่างๆ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการตามแผนปฏิรูปธุรกิจทั้งองค์กร ตลอดจนการปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะให้บริการ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมการบิน เมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลง

นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคตอย่างยั่งยืน ได้แก่
1. การลดต้นทุนด้านบุคลากรเพื่อใหเหมาะสมกับสถานการณและจำนวนเที่ยวบินที่ลดลง 2.การลดต้นทุนค่าเช่าเครื่องบิน 3.การยกระดับการให้บริการในทกุ ๆด้าน 4.ลดต้นทุนการดำเนินงานในด้านอื่นๆ 5.หารายได้ในช่วงที่สถานการณ์การบินยังไม่กลับมาเป็นปกต

ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขึ้นเครื่องหมาย SP, NP หลักทรัพย์ของ NOK ในวันที่ 1 ธ.ค.2564 และขึ้น NP ในวันที่ 2 ธ.ค.2564 กรณีผู้สอบบัญชีไม่ให้ข้อสรุปต่องบการเงินสิ้นสุดวันที่ 30 มิ.ย. 2564 ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต. อาจสั่งการให้บริษัทแก้ไขงบการเงินได้