CKP โมเดลธุรกิจ เมกะเทรนด์ คาดกำไรเกิน 2,000 ล้านบาท 3 ปีติด

HoonSmart.com>>บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP พิสูจน์ผลงานด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ผ่านผลกำไรสุทธิ 1,235 ล้านบาท ในไตรมาสที่ 3/2564 ที่ผ่านมา สร้างกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของบริษัท (All Time High) โดยนักวิเคราะห์คาดว่า CKPower จะมีกำไรสุทธิสูงกว่า 2,000 ล้านบาทในช่วงปี 2564-2566

กำไรที่เพิ่มขึ้นมากในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 (NN2) จำนวน 998.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และที่สำคัญบริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 49.8% โดยส่วนใหญ่มาจากการลงทุนในบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ที่มีกำไรสุทธิสูงถึง 2,366 ล้านบาท และ CKPower ได้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 42.5% ทำให้รับรู้ส่วนแบ่งกำไรมากขึ้นด้วย

รวม 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 2,056.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,659.6 ล้านบาท หรือ 418.1% มีรายได้รวม 6,905 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,180.8 ล้านบาท หรือ 20.6% และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 29.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2563 ที่ 6.9%

หัวใจสำคัญอยู่ที่โมเดลธุรกิจ ปัจจุบัน CKPower มีการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในสัดส่วน 89% ของกำลังการผลิตติดตั้งรวม รวมถึงประสิทธิภาพบริหารจัดการทั้งปริมาณน้ำและต้นทุนทางการเงิน

ทั้งนี้โรงไฟฟ้าส่วนใหญ่ของบริษัท ผลิตไฟฟ้าจากสิ่งที่ได้มาจากธรรมชาติ คือ น้ำและแสงอาทิตย์ จึงไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง โดยบริษัทมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเพียง 1 แห่ง โดยรายได้ก็จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงในทิศทางเดียวกันกับต้นทุนก๊าซธรรมชาติด้วยเช่นกัน ทำให้ค่าเชื้อเพลิงส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อ EBITDA Margin

ทางด้านโครงสร้างทางการเงิน บริษัทมีหนี้สินระยะยาวเป็นหุ้นกู้ ประมาณ 75% ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยคงที่ จึงมีความเสี่ยงต่อการแปรผันของดอกเบี้ยค่อนข้างต่ำ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีต้นทุนทางการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.12%

เติบโตอย่างยั่งยืน

จากความมุ่งมั่นในการพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมต่อผู้มีส่วนได้เสียควบคู่กับการให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและการมีบรรษัทภิบาลที่ดี บริษัทจึงได้รับเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ประจำปี 2564 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และได้รับคะแนนประเมิน CG Score ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellent) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

นอกจากนี้ บริษัทยังคว้ารางวัล Asian Power Awards ปี 2564 สาขา Innovative Power Technology of the Year จากนวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าของหอหล่อเย็น (Cooling Tower Optimization) ช่วยหยุดพัดลมระบายความร้อนหอหล่อเย็นของโรงไฟฟ้าบางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ ประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3.86 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

วิ่งเข้าหาเป้าหมาย 5,000 MW ในปี 2568

CKPower ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 5,000 เมกะวัตต์ (MW) จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,167 เมกะวัตต์ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10-20% จนถึงปี 2568 โดยนอกจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่แล้ว บริษัทยังพิจารณาลงทุนโครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว และ เวียดนาม เพื่อเสริมการเติบโตในระหว่างการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำด้วย

นักวิเคราะห์มองบวก

CKPower ได้จัดประชุมกับนักวิเคราะห์ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งประมาณการกำไรสุทธิสูงกว่า 2,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2564-2566 ขณะที่ บล.เอเซีย พลัส คาดว่าในปี 2565 จะมีกำไรสุทธิ 1,874 ล้านบาท และ 1,831 ล้านบาทในปี 2566 รวมถึงได้มีการปรับเพิ่มกำไรของปี 2564 ขึ้น 111% เป็น 2,320 ล้านบาท เนื่องจากไตรมาสที่ 2 และ 3 ดีกว่าที่คาดไว้ ส่วนไตรมาสที่ 4 ชะลอตัวลง เนื่องจากจะต้องเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งต้นปี 2565 และมองมูลค่าพื้นฐานสิ้นปี 2565 ที่ 6.40 บาท ทั้งนี้ยังไม่ได้รวมโครงการหลวงพระบางในประมาณการ

บล.กรุงศรีให้ราคาเป้าหมาย 6.50 บาท มี Upside ที่น่าสนใจ เช่น ปริมาณน้ำในเขื่อน Xiaowan และ Nouzhadu ของประเทศจีนอยู่ในระดับสูงเกือบเต็ม จะต้องลดก่อนฤดูฝนใหม่ จะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่าน XPCL และหนุนกำไรในไตรมาสที่ 2/2565 จึงมีโอกาสปรับประมาณการกำไรปี 2565 และนโยบายของรัฐบาลไทยต่อภาวะโลกร้อน ที่จะเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้นและมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำและพลังงานหมุนเวียนอื่นได้แรงหนุนจากนโยบายรัฐมากขึ้น

ด้าน บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) คาดกำไรไตรมาสที่ 4 จะชะลอตัวลดลงตามฤดูกาลเหลือ 275 ล้านบาท รวมทั้งปี 2564 กำไรจะทำสถิติสูงสุดที่ 2,331 ล้านบาท เติบโต 476%

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) คาดกำไรจากธุรกิจหลักในไตรมาสที่ 4 จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญาต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คงราคาเป้าหมายปี 2565 ที่ 7.20 บาทซึ่งรวมมูลค่าส่วนเพิ่มจากโครงการหลวงพระบางแล้ว โดยคาดว่าปี 2565 จะมีกำไรสุทธิ 2,334 ล้านบาท ถือว่าใกล้เคียงกับประมาณการในปี 2564 ที่นิวไฮ 2,371 ล้านบาท