ดาวโจนส์ปิดดิ่ง 905 จุด วิตกไวรัสสายพันธุ์ใหม่

HoonSmart.com>> ดัชนีดาวโจนส์ปิดดิ่ง 905 จุด วิตก “โอไมครอน” ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ แพร่กระจายเร็ว อาจต้องกลับมาล็อกดาวน์ นักลงทุนลดสถานะทรัพย์สินเสี่ยงทั่วโลก ตลาดหุ้นยุโรปร่วง ราคาน้ำมันดิบ WTI ทรุดกว่า 13% ปิดที่ 68.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ (Dow Jones Industrial Average:DJIA) วันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 ปิดที่ 34,899.34 จุด ร่วงลง 905.04 จุด หรือ -2.53% จากความวิตกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนากลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ ทำให้นักลงทุนลดสถานะจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก จากความวิตกว่าอาจจะต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งหากแพร่กระจายในวงกว้าง

ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 4,594.62 จุด ร่วงลง 106.84 จุด, -2.27%

ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,491.66 จุด ร่วงลง 353.57 จุด, -2.23%

ตลาดเปิดทำการซื้อขายเพียงครึ่งวันเมื่อวานนี้ หลังจากปิดทำการวันที่ 25 พฤศจิกายน เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า

เมื่อวันพฤหัสบดีองค์การอนามัยโลกเตือนเกี่ยวกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟฟริกาใต้ ซึ่งกลายพันธุ์ได้จำนวนมากและแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา นักวิทยาศาสตร์กังว่า อาจจะมีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีน และหลังการประชุมเกี่ยวกับไวรัสกลายพันธ์องค์การอนามัยโลกตั้งชื่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า โอไมครอน (omicron)

นักวิเคราะห์จาก Bespoke Investment Group กล่าวว่า ประเด็นคือตอนนี้ไม่รู้ว่าตัวกลายพันธุ์นี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพวัคซีนแค่ไหนและจะร้ายแรงแค่ไหนเมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่น ทำให้การตัดสินใจลงทุนยาก

ด้านนักวิเคราะห์จาก Capital Economics กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกไม่ได้พูดว่า ยังเร็วเกินไปที่จะระบุลงไปว่าความเสี่ยงของสายพันธุ์นี้ต่อเศรษฐกิจโลกมีมากแค่ไหน แต่บทเรียนจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือมีการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจ ดังนั้นจึงต้องจับตาว่ารัฐจะตอบสนองต่อการแพร่กระจายของสายพันธุ์ใหม่นี้อย่างไร

นอกจากนี้ยังไม่รู้ว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้จะหลบหลีกประสิทธิภาพของวัคซีนแค่ไหน เพราะจะมีผลต่อระบบสาธารณสุข ทั้งสหรัฐและสหราชอาณาจักรต่างใช้แนวทางที่จะอยู่กับโควิดจึงมีแนวโน้มที่จะใช้มาตรการเข้มงวดมากกว่าภูมิภาคอื่น

สหราชอาณาจักรสั่งห้ามเที่ยวบินจาก 5 ประเทศแอฟริกา ขณะที่อิราเอลห้ามหลายประเทศหลังจากพบนักท่องเที่ยวติดเชื้อสายพันธุ์นี้ และมีการพบผู้ติดเชื้อในฮ่องกงและเบลเยี่ยม

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีลดลง 15 จุดมาที่ 1.49% จากที่เคยสูงถึง 1.68% ในสัปดาห์นี้

ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างลดลง โดยตลาดหุ้นเอเชียร่วงลงมากที่สุดนำโดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นและฮ่องกง

นอกจากนี้สกุลเงินดิจิทัลก็ลดลงเช่นกันโดยบิตคอยน์ลดลง 8%

กุล่มที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางลดลงแรง โดยหุ้นคาร์นิวาล กรุ๊ป ลดลง 11%หุ้นโรยัล แคริบเบียนลดลง13.2% หุ้นยูไนเต็ดแอร์ไลน์ลดลงกว่า 9% หุ้นอเมริกันแอร์ไลน์ ลดลง 8.8%

หุ้นโบอิ้งลดลงกว่า 5% หุ้นแมริออท อินเตอร์เนชั่นแนลลดลง 6.5%

กลุ่มธนาคารลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หุ้นแลงก์ ออฟ อเมริกาลดลง 3.9% หุ้นซิตี้กรุ๊ปลดลง 2.7%

หุ้นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเศรษฐกิจโลกอ่อนตัวลง นำโดยหุ้นแคทเธอพิลลาร์ลดลง 4% หุ้นเชฟรอนลดลง 2.3% หลังจากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกดิ่งลง

นักลงทุนแห่เข้าไปซื้อหุ้นผู้ผลิตวัคซีน ส่งผลให้หุ้นโมเดอร์น่าเพิ่มขึ้นกว่า 20% หุ้นไฟเซอร์เพิ่มขึ้น 6.1%

หุ้นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้านปรับตัวขึ้น โดยหุ้น Zoom Video เพิ่มขึ้นกว่า 5%

ตลาดหุ้นยุโรปส่วนใหญ่ร่วงลงแรง นำโดยกลุ่มเดินทางและสันทนาการที่ลดลง 8.8%จากความวิตก

เกี่ยวกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในแอฟริกาใต้ และเป็นการลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ขณะที่นักลงทุนได้เกาะติดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดที่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นในยุโรป และหลายประเทศได้กลับมาใช้มาตรการเข้มงวด

องค์การอนามัยโลกระบุว่า ต้องใช้เวลาอีกหลายสัปดาห์ในการทำความเข้าใจไวรัสสายพันธุ์ใหม่ว่าจะมีผลต่อวินิจฉัย การรักษาและวัคซีนอย่างไร

ดัชนี Stoxx Europe 600 ปิดที่ 464.05 จุด ลดลง 17.67 จุด, -3.67%

ดัชนี FTSE 100 ตลาดหุ้นลอนดอนปิดที่ 7,044.03 จุด ลดลง 266.34 จุด, -3.64%

ดัชนี CAC-40 ตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดที่ 6,739.73 จุด ลดลง 336.14 จุด, -4.75%

ดัชนี DAX ตลาดหุ้นเยอรมนีปิดที่ 15,257.04 จุด ลดลง 660.94 จุด, -4.15%

ราคาน้ำมันดิบ WTI งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 10.24 ดอลลาร์ หรือ 13.1% ปิดที่ 68.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Brent ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมกราคม ลด 9.53 ดอลลาร์ หรือ 11.59% ปิดที่ 72.72 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

น้ำมันดิบ WTI และน้ำมันดิบ Brent ลดลงมากสุดภายในหนึ่งวันนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2020 และปิดตลาดที่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน.ที่ผ่านมา