AOT ร่วง 4% กังวลโควิดสายพันธ์ุใหม่ ขยายเวลาช่วยสายการบิน-ผู้ประกอบการถึงปี 66

HoonSmart.com>> “การท่าอากาศยานไทย” ขยายเวลามาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจ “สายการบินและผู้ประกอบการ” ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุด 31 มี.ค.65 พร้อมขยายอายุสัมปทานทุกรายอีก 1 ปี ด้านบล.กรุงศรี คาดกระทบต่อคาดการณ์กำไรปีงบประมาณ 66 ลง 37% ผลจากรายได้สัมปทานลดลง โดยเฉพาะสัญญารายได้ต่อหัวของ KPD มองลบต่อภาพรวมการลงทุนระยะสั้น กระทบมูลค่าหุ้นมากสุด 1 บาทต่อหุ้น แนะนำ ซื้อ เป้า 78 บาท ด้านราคาหุ้น AOT เช้านี้ร่วงกว่า 4% ตลาดกังวลโควิดสายพันธ์ุใหม่ในแอฟริกาใต้ ระบาดระลอกใหม่ในยุโรป

หุ้นบริษัท การท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือทอท. เช้านี้ปรับตัวลงตั้งแต่เปิดตลาดกว่า 4.12% อยู่ที่ 64 บาท มูลค่าการซื้อขายอันดับหนึ่งของตลาด หลังตลาดกังวลโควิดสายพันธุ์ใหม่ตรวจพบในแอฟริกาใต้อาจกระทบต่อประสิทธิภาพวัคซีน รวมทั้งการระบาดระลอกใหม่ในยุโรป ณ เวลา 10.31 น. ราคาอยู่ที่ 63.75 บาท ลดลง 3.00 บาท หรือ -4.49% มูลค่าการซื้อขาย 1,313.66 ล้านบาท โดยราคาปรับตัวลงไปต่ำสุด 63.50 บาทและสูงสุด 64.25 บาท

ขณะเดียวกันเมื่อคืนนี้ AOT แจ้งตลาดหลักทรัพย์ขยายเวลามาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการเพิ่มเติม ซึ่งทอท.คาดว่า ในปีงบประมาณ 2565 ทอท.จะมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่ากรณีที่ ทอท.ไม่ดำเนินการขยายมาตรการใด ๆ ในอัตรา 17.76% คิดเป็นจำนวน 3,037 ล้านบาท และส่งผลให้ ทอท.คาดว่าจะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นในอัตรา 203.72% จากปีงบประมาณ 2564 ในปีงบประมาณ 2566 ทอท.คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในอัตรา 140.62% จากปีงบประมาณ 2565

บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ประเมินมาตรการบรรเทาผลกระทบอีกรอบมีต่อคาดการณ์กำไรปีงบประมาณ 2566 ของ AOT ลง 37% และเป้าหมาย 1 บาท มองเป็นลบต่อภาพรวมการลงทุนในระยะสั้น ยังคงแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 78.00 บาท (upside 16.90 %)

บล.กรุงศรี วิเคราะห์ Sensitivity สะท้อนการปรับคาดการณ์กำไรปีบัญชี 2566 ลง 37% แม้บล.กรุงศรีคาดว่าอาจมีการขยายการเว้นค่าสัมปทานจากเดิมจาก 31 มี.ค.2565 แล้ว แต่มาตรการจริงแย่กว่าคาดการณ์ของฝ่ายวิเคราะห์ ขณะที่เชื่อว่าการเว้นค่าสัมปทานหลัง ก.ย.- 2565 เป็นไปได้น้อยและค่อนข้างใจดี การวิเคราะห์ sensitivity ของบล.กรุงศรี สะท้อนการปรับคาดการณ์กำไรลง 37% เป็น 1.45 หมื่นล้านบาท ผลจากการปรับรายได้ลง 22% จากรายได้สัมปทานลดลง 31% หากการงดเว้นค่าสัมปทานของ AOT บังคับใช้

“มาตรการกระทบต่อดาวน์ไซด์ของราคาเป้าหมายเพียงเล็กน้อย 1.0 บาทต่อหุ้น (-1%) อย่างไรก็ตามเราเชื่อว่ามาตรการที่ออกมาเป็นลบมากกว่าคาด เนื่องจากทิศทางมาตรการที่ตรงข้ามกับคาดการณ์ของ AOT ในเดือนที่ผ่านมาว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้รวดเร็ว”บล.กรุงศรี ระบุ

AOT เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการ เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2564 ประกาศมาตรการบรรเทาผลกระทบเพิ่มเติมให้สายการบินและผู้ได้รับสัมปทาน เพื่อช่วยให้สายการบินและผู้ได้รับสัมปทานยังเป็นส่วนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานการบินและสนามบินได้ ประเด็นสำคัญมีดังนี้

1. ขยายมาตรการเดิมเป็นหมดอายุใน 31 มี.ค.2566 จาก 31 มี.ค. 2565 ซึ่งครอบคลุมถึง
1.1. คิดค่าสัมปทานเป็นเปอร์เซ็นต์ (ไม่มีการันตีขั้นต่ำ)
1.2. ลดค่าสัมปทานคงที่
1.3. เว้นและลดค่าเช่าสำนักงานและทรัพย์สิน, ค่าบริการในสนามบินและอาคาร, ค่าสัมปทานคงที่รายเดือน, ค่าบริการขึ้นลงและจอดอากาศยาน

2. ขยายอายุสัมปทานทุกรายไปอีก 1 ปี (เช่น สัญญา KPD ใน BKK ขยายเป็น 2575 จาก 2574)

บริษัทการท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า คณะกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ภาครัฐได้มีนโยบายเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากยังคงทยอยขอยกเลิกการประกอบกิจการและหรือยังไม่มีความมั่นใจที่จะพร้อมกลับมาประกอบกิจการอยู่เป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณะอย่างรุนแรง ประกอบกับสายการบินและผู้ประกอบการยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถฟื้นคืนธุรกิจได้อย่างเต็มที่ภายในปี 2565

ในระยะเวลาผ่านมา สายการบินและผู้ประกอบการมีความประสงค์ขอให้ทอท.ขยายระยะเวลาของมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงการขยายอายุสัญญาต่าง ๆ ออกไปอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาที่สายการบินและผู้ประกอบการยังไม่มีความมั่นใจในการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบินและยังมีรายจ่ายในการกลับมาเพื่อประกอบกิจการอีกจำนวนมาก โดยตามการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA) พบว่า จำนวนผู้โดยสารทางอากาศรวมทั่วโลกในปี 2565 จะยังคงต่ำกว่าปี 2562 และจะยังคงไม่ฟื้นคืนเท่าระดับปกติจนถึงปี 2566

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานให้ยังคงสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้ ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อพยุงสถานะทางธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ณ ท่าอากาศยานที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ ทอท.ทั้ง 6 แห่ง