GULF ตั้งเป้ารายได้ปี 65 โต 60% จัดงบ 1-3 หมื่นลบ.ซื้อกิจการ

HoonSmart.com>>”กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์” โตก้าวกระโดด ปี 65 คาดพุ่ง 60% เก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากการลงทุน ตั้งงบเพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท ไม่รวมซื้อกิจการอีกหลายโครงการ มูลค่าการลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท คาดจะชัดเจนได้ในไตรมาส 1/65 เพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียนทั้งในไทยและต่างประเทศ เพิ่มสัดส่วนรายได้มากกว่า 30% ในปี 73 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7-10%

น.ส.ยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ปี 2565 จะเติบโต 60% มาจากโครงการใหม่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ประกอบด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GSRC (IPP) กำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมีกำหนด COD หน่วยผลิตที่ 3 กำลังการผลิต 662.5 เมกะวัตต์ วันที่ 31 เม.ย.2565 และหน่วยผลิตที่ 4 กำลังการผลิต 662.5 เมกะวัตต์ ในวันที่ 1 ต.ค.2565 รวมถึงจะทยอย COD โซลาร์รูฟท็อปอีกประมาณ 90 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังเป็นปีที่บริษัทฯ รับรู้รายได้และกำไรของโรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) หน่วยผลิตที่ 1 และ 2 กำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ เข้ามาเต็มปี  ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโครงการ DIPWP ประเทศโอมาน เฟส 1 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ (บริษัทถือหุ้น 49%) และรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) (ถือหุ้น 42.25%) เข้ามาเต็มปีเช่นเดียวกัน

ปัจจุบันบริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ยุโรป หรือเอเชีย เพื่อต่อยอดรายได้ในอนาคต โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป, ลม, ไบโอแมส และน้ำมากกว่า 30% ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 7-10%

น.ส.ยุพาพินกล่าวว่า ในปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท (ไม่รวม M&A -การซื้อหรือควบรวมกิจการ) เพื่อรองรับการดำเนินโครงการที่มีอยู่ ส่วนการ M&A ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาในหลายโครงการ มูลค่าการลงทุน 10,000-30,000 ล้านบาท คาดจะชัดเจนได้ในไตรมาส 1/2565 ส่วนการจับมือกับ Singtel เพื่อร่วมกันศึกษาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2565 ในอนาคตอาจมี AIS เข้ามาร่วมธุรกิจด้วย

บริษัทมีการตั้งงบลงทุนรวม 10 ปีข้างหน้า (2565-2574) ไว้ที่ 74,000 ล้านบาท ไม่รวม M&A แบ่งเป็น ธุรกิจโครงการพลังงานหมุนเวียนประมาณ  62% หรือคิดเป็นวงเงินรวม 46,000 ล้านบาท ได้แก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ประเทศเวียดนาม, Gulf1 projects และ Hydropower projects ธุรกิจ Gas-fired Power Generation ราว 23% คิดเป็นเงิน 17,000 ล้านบาท รองรับโครงการ GSRC & GPD, โรงไฟฟ้าหินกอง  , โรงไฟฟ้าบูรพา พาวเวอร์  และโครงการ DIPWP ประเทศโอมาน ส่วนที่เหลืออีก 15% คิดเป็นเงิน 11,000 ล้านบาท จะใช้ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ในโครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (MTP3) และโครงการมอเตอร์เวย์ ระหว่างเมืองสาย M6 และ M 81

สำหรับแหล่งเงินลงทุนจะมาจากกระแสเงินสดของบริษัทฯ และเงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการออกหุ้นกู้ โดยคาดว่าจะ ออกหุ้นกู้ในวงเงินประมาณ  20,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี 2565 เพื่อใช้คืนเงินกู้ซื้อหุ้น INTUCH และรองรับขยายกิจการ

แนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/64 คาดว่าจะเติบโต่อเนื่อง จากโครงการโรงไฟฟ้าศรีราชา (GSRC) หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิต 662.5 เมกะวัตต์ COD แล้ว ในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา, โรงไฟฟ้าพลังงานลม Mekong ประเทศเวียดนาม เฟส 1 กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในไตรมาส 4นี้ , โรงไฟฟ้าก๊าซฯ DIPWP ประเทศโอมาน เฟส 1 กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ จะ COD ในเดือนธ.ค.นี้ และโครงการโซลาร์รูฟท็อป กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ จะ COD ได้ในไตรมาส 4  นอกจากนี้โรงไฟฟ้าพลังงานลม ประเทศเยอรมนี จะเป็นช่วงของไฮซีซั่น ทำให้มีกำลังการผลิตสูงกว่าไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะกลับมามากขึ้น หลังเปิดประเทศ

ขณะเดียวกันบริษัทฯ จะมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน INTUCH  ในไตรมาส 4 ด้วย และจะมีการเซ็นสัญญา PPP แหลมฉบัง ระยะ 3 กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย ในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ย.64)  หลังจากนี้ทางการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะเป็นผู้ดำเนินการถมทะเล คาดใช้ระยะเวลา 2 ปี โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการ Terminal F1 ในปี 68 และ Terminal F2 ในปี 2572  นอกจากนี้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเขื่อนปากแบง กำลังการผลิต 91 เมกะวัตต์ และโครงการปากลาย กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ ที่สปป.ลาว คาดว่าจะเซ็น MOU Tariff กับทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในเดือนธ.ค.นี้ และศึกษาลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มเติมอีก 3-5 เขื่อน