MFC : “Europe looks cheaper now than at the outset of the year”

๐ หลังประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 เราเริ่มเห็นตลาดหุ้นยุโรปดัชนี STOXX600 ถูกปรับประมาณการกำไรเพิ่มขึ้นมากกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500

๐ หากตลาดหุ้นยุโรปมีการปรับฐานลงจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ เรามองเป็นโอกาสในการทยอยเข้าลงทุน

๐ หุ้นเทคโนโลยีในดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นสวนทางดัชนี Dow Jones และสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ที่ปรับตัวลดลง

๐ ปัจจุบันเราเริ่มเห็นปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. เช่น ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลดลง รวมถึงสถานการณ์ Supply Chain Disruption และ Chip Shortage ที่เริ่มคลี่คลายลง

 
 

Highlighted Funds

MGF : เรามองว่าหุ้นเติบโตจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นคุณค่า ในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด โดยเฉพาะหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพดี (Quality Growth Stock) เนื่องจากหุ้นประเภทนี้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ขณะเดียวกันก็มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ

M-EDGE : โอกาสลงทุนในหุ้นที่เป็นผู้ชนะ ที่มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเติบโตอย่างยั่งยืน คัดเลือกลงทุนหุ้นคุณภาพดี สามารถสร้างมูลค่าได้เหนือกว่าดัชนีหุ้นโลก อีกทั้ง กองทุนกระจายการลงทุนไปในธุรกิจที่มี business cycle ต่างกัน และหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้เหมาะสมภายใต้ตลาดผันผวน

MRENEW : หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดที่เป็นหนึ่งในธีมการลงทุนของกองทุนหลัก ราคาหุ้นได้มีการปรับตัวลง จนทำให้ปัจจุบันมี Valuation ที่น่าสนใจอีกครั้ง สังเกตได้จากค่า Forward P/E ของดัชนี S&P Global Clean Energy Index ที่เป็นดัชนีชี้วัดของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่ลงมาอยู่บริเวณค่าเฉลี่ยในรอบ 2 ปี

MEURO : นักวิเคราะห์คาดการณ์ ปี 2564 ตลาดหุ้นยุโรปจะมีการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงกว่าภูมิภาคอื่น มีกำไรเติบโตสูงถึง 55%YoY นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี FTSE World Europe ex UK และดัชนี S&P500 ปัจจุบันอยู่ที่ -1S.D.

Investment Strategy

สัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มพลังงานและสายการบินทั้งในสหรัฐฯ และยุโรปปรับตัวลดลง จากความกังวลของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดระลอกใหม่ในยุโรป ขณะที่หุ้นเทคโนโลยีในดัชนี Nasdaq ปรับตัวขึ้นสวนทางดัชนี Dow Jones และสามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้ง โดยได้แรงหนุนจากอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectation) ที่เริ่มลดลง

ปัจจุบันเราเริ่มเห็นปัจจัยที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มชะลอลงในเดือน พ.ย. และ ธ.ค. เพิ่มขึ้นคือ

1.) ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากจุดสูงสุดบริเวณ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล มาที่ระดับ 75 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากข่าวที่สหรัฐฯเตรียมจะปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบของเงินเฟ้อ ซึ่งในอดีตราคาน้ำมันเคยลดลงเฉลี่ย 12% ภายใน 90 วัน หลังจากที่มีการประกาศปล่อยน้ำมันออกจากคลังสำรองอย่างเป็นทางการ

2.) ปัญหา Supply Chain Disruption ที่เริ่มคลี่คลายลง อย่างดัชนีค่าระวางเรือที่เป็นต้นทุนค่าขนส่งสินค้าเทกองต่าง ๆ ปรับตัวลดลงกว่า -50% และล่าสุดปัญหา Chip Shortage ที่เคยกดดันไลน์การผลิตสินค้าเทคโนโลยีเช่น สมาร์ทโฟน ไปจนถึงรถยนต์ไฟฟ้าก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น สังเกตได้จากราคา RAM ที่เป็นส่วนประกอบของหน่วยความจำใน Chipset ที่ราคาปรับตัวลดลงราว -30%

ขณะที่ผลสำรวจผู้จัดการกองทุนเดือน พ.ย. ที่ถึงแม้ว่าจะยังคงมองประเด็นอัตราเงินเฟ้อเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งอยู่ แต่เราเริ่มเห็นผู้จัดการกองทุนให้น้ำหนักความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อลดลงจากระดับ 50% เหลือเพียง 33% สะท้อนว่าผู้จัดการกองทุนมีความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเงินเฟ้อลดลง เราแนะนำให้ติดตามรายงานอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯในเดือน พ.ย. หากลดลงต่ำกว่าระดับ 6%YoY ก็อาจเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้