AOT อ่วมงวดปี 64 ขาดทุน 1.63 หมื่นลบ.

HoonSmart.com>> “ท่าอากาศยานไทย” เปิดงบปี 64 ขาดทุนสุทธิ 1.63 หมื่นล้านบาท พิษโควิดลากยาวทั่วโลก การแพร่ระบาดในประเทศหลายระลอก รัฐออกมาตรการคมเข้ม ฉุดรายได้วูบ 76% เหลือ 7,838 ล้านบาท

บริษัท ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวดปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 (ต.ค.2563-ก.ย.2564) ขาดทุนสุทธิ 16,322.01 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 1.14 บาท พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 4,320.67 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.30 บาท

บริษัทฯ มีรายได้รวม 7,838.44 ล้านบาท ลดลง 76.34% จากงวดปีก่อนอยู่ที่ 33,133.92 ล้านบาท โดยมีรายได้จากการขายหรือการให้บริการลดลง 24,093.50 ล้านบาท หรือ 77.27% จากการลดลงทั้งรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 14,297.00 ล้านบาท หรือ 85.99% และรายได้ที่ไม่เกี่ยวกับกิจการการบิน 9,796.50 ล้านบาท หรือ 67.31% เนื่องจากการลดลงของจำนวนเที่ยวบินและจำนวนผู้โดยสาร รายได้อื่นลดลง 1,201.98 ล้านบาท หรือ 61.49%

ด้านค่าใช้จ่ายรวมลดลง 1,740.76 ล้านบาท หรือ 6.41% ส่วนใหญ่เกิดจากการลดลงของค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ค่าจ้างภายนอก รวมทั้งค่าซ่อมแซมและบำรุงรักษา ในขณะที่ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 2,326.80 ล้านบาท หรือ 360.07% เนื่องจากดอกเบี้ยจ่ายของหนี้สินตามสัญญาเช่าเพิ่มขึ้น

สำหรับรายได้ภาษีเงินได้เพิ่มขึ้น 5,211.21 ล้านบาท หรือ 502.02% สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่ลดลง

ภาพรวมของผลการดำเนินงานด้านปริมาณการจราจรทางอากาศของบริษัทฯลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลต่อการเดินทางเข้า-ออกประเทศไท่ย และทั่วทุกภูมิภาคของโลก นอกจากนั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างขึ้น ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการเดินอากาศและการท่องเที่ยว จากมาตรการจำกัดการเดินทางทางอากาศระหว่างประเทศ

ในขณะที่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในประเทศที่เกิดขึ้นซ้ำหลายระลอก ประกอบกับภาครัฐได้ออกข้อกำหนดในการจำกัดและควบคุมการเดินทางอย่างเคร่งครัด เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงอย่างมาก ต่อมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศเกี่ยวกับแนวปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการสนามบินและผู้ดำเนินการเดินอากาศในเส้นทางการบินภายในประเทศในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ฉบับที่ 5 เพื่อให้หน่วยงานที่ให้บริการขนส่งทางอากาศดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดไปหรือมีประกาศอื่นใดเพิ่มเติม ซึ่งประกาศดังกล่าวส่งผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมด้านการบิน การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ