HANA ชูเรือธงสินค้าใหม่ SiC เปิดตัวปี’65 อัตรากำไรสูง 30%

HoonSmart.com>> “ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส” จ่อเริ่มผลิตและเปิดตัวอุปกรณ์ SiC ไตรมาส 3/2565 อัตรากำไรสูงถึง 30% คาดปี 65 มีรายได้ 19 ล้านดอลลาร์ ผ่านจุดคุ้มทุนในปี 68 ส่งเข้าตลาดหุ้นในปี 67 ยังไม่ตัดสินใจที่ไทย-เกาหลีใต้-สหรัฐ วางเงินลงทุนปีหน้า 2.5-3 พันล้านบาท ส่วนไตรมาส 4 ปีนี้ โตต่อเนื่อง บริหารต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการขาดแคลนชิป

นายริชาร์ด เดวิด ฮัน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA) เปิดเผยว่า บริษัทย่อย เพาเวอร์ มาสเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ (PMS) อยู่ระหว่างการพัฒนาและเตรียมตัวผลิตอุปกรณ์ซิลิคอนและซิลิคอนคาร์ไบด์ (SiC) ซึ่งเป็นอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ออนบอร์ด และออฟบอร์ด สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และสามารถใช้ได้ในหลายอุตสาหกรรม โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 3/2565 นับเป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกของบริษัท ซึ่งได้ลิขสิทธิ์ทั่วโลก และมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ประมาณ 15-18%

“Sic จะเป็นสินค้าในอนาคต ช่วยสร้างการเติบโตร่วมกับธุรกิจเดิม ส่งผลดีต่อผู้ถือหุ้น และผลประกอบการของบริษัท โดยกระแสการเปลี่ยนถ่ายเป็นรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มมีมากขึ้น ในหลายๆประเทศทั่วโลก เพื่อเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ” นายริชาร์ด เดวิด ฮัน กล่าว

ทั้งนี้ประเมินว่าบริษัท PMS จะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงปี 2565-2568 อยู่ที่ 19 ล้านดอลลาร์, 50 ล้านดอลลาร์ , 92 ล้านดอลลาร์และ 132 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ซึ่งสามารถผ่านจุดคุ้มทุน (Break Even Point) ได้ โดยในช่วง 3 ปีข้าง (2567) มีแผนจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังพิจารณาอยู่ว่าในประเทศไหน เบื้องต้นมองไว้ที่ ตลาดหุ้นไทย , เกาหลีใต้ และ กระดาน NASDAQ ที่สหรัฐ

นอกจากนี้มีหลายบริษัทที่ให้ความสนใจอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมผลิตอุปกรณ์ดังกล่าว ซึ่งบริษัทก็มีการพูดคุยอยู่ รวมถึงการซื้อกิจการ และการร่วมกันจัดตั้งบริษัทร่วมทุนด้วย โดยบริษัทยังบอกไม่ได้ว่าผลสรุปจะเป็นอย่างไร

ขณะที่เงินลงทุนในปี 2565 บริษัทตั้งไว้ที่ 2,500-3,000 ล้านบาท โดยจะใช้ลงทุนในเครื่องจักรของผลิตภัณฑ์ SiC ประมาณ 2,000 ล้านบาท และลงทุนส่วนอื่นๆอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่บริษัทมีกระแสเงินสดในมือประมาณ 8,500 ล้านบาท ซึ่งปีนี้ใช้เงินลงทุนไปแล้วประมาณ 3,000 ล้านบาท

ส่วนแนวโน้มไตรมาส 4/2564 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ด้านปัญหาขาดแคลนชิปยังคงมีต่อเนื่องถึงปี 2565 ซึ่งบริษัทก็มีบริหารจัดการโดยการเปลี่ยนไปผลิตสินค้าที่มีอัตรากำไรสูง รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อควบคุมต้นทุนจากการขาดแคลนชิป