คปภ.เตือน”ธุรกิจประกัน”รับมือ 5 ปัจจัยเสี่ยงในอนาคต

HoonSmart.com>>เลขาธิการ คปภ. เตือนรับมือ 5 ปัจจัยเสี่ยงกระทบธุรกิจประกันในอนาคต ”เศรษฐกิจ – สังคม – เทคโนโลยี – สิ่งแวดล้อม –กฎหมาย” แจง 5 บทบาทและแนวทางของ คปภ.มุ่งสู่ “SMART OIC”

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ( คปภ.) กล่าวถึง “แนวทางการขับเคลื่อนธุรกิจประกันภัยยุคใหม่” ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงด้านการประกันภัย ประจำปี 2564 (CEO Insurance Forum 2021) ว่าปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทายในหลายด้าน เศรษฐกิจที่ถดถอยต่อเนื่องหลายปี การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม ความเสี่ยงใหม่ และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจและวิกฤตสุขภาพของคนไทยในวงกว้าง

ธุรกิจประกันภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบในหลายมิติเช่นกัน เห็นได้จากการเติบโตของ เบี้ยประกันภัยที่หดตัวลง ทั้งธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัย แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ได้แสดงให้เห็นว่าระบบประกันภัยไทย มีความยืดหยุ่น แข็งแรง สามารถตอบสนองกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว

มองไปข้างหน้า ธุรกิจประกันภัยจะต้องเผชิญความท้าท้ายและปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ ที่ส่งผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ มี 5 ปัจจัยที่มีนัยยะต่อธุรกิจประกันภัยที่ต้องเฝ้าระวัง ติดตามใกล้ชิด และปรับตัวให้เท่าทัน ประกอบด้วย

1) ปัจจัยทางเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำและคงที่ ตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ รวมถึงการหดตัวของเศรษฐกิจไทยและหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น กระทบต่อผลประกอบการ และความสามารถในการซื้อประกันภัยของประชาชน

2) ปัจจัยด้านสังคม ปีหน้า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดย ๑๐ ปีข้างหน้า TDRI คาดการณ์ ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของคนไทยจะเพิ่มขึ้นกว่า ๒.๒ ล้านล้านบาท รวมถึงการใช้ internet และ social media เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคจะหันไปใช้ช่องทาง online ในการทำธุรกรรม รวมถึงเลือกซื้อประกันภัย

3) ปัจจัยด้านเทคโนโลยี ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นปัจจัยที่กระทบต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันภัยมากที่สุดปัจจัยหนึ่ง ในระยะถัดไป จะเริ่มเห็นบริษัทประกันภัยหลายแห่งเริ่มใช้ AI และ Data analytics เข้ามาช่วยวิเคราะห์ความเสี่ยง รับประกัน และพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทน

4) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม กระแส ESG หรือ Environmental, Social and Governance ถือได้ว่ามาแรงมาก โดยในเวที ASEAN Insurance Regulators ได้กำหนดเรื่อง Sustainable Insurance ที่ต้องให้เห็นผลเป็นรูปธรรมในการดำเนินธุรกิจ การลงทุน และการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คำนึงถึงความยั่งยืน

5) ปัจจัยด้านกฎหมาย ธุรกิจประกันภัยไทย อยู่ในช่วงของการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง IFRS 17 ที่จะบังคับใช้ปี 2567 ส่งผลต่อวิธีการวัดมูลค่าหนี้สิน และการรับรู้รายได้ทางบัญชี รวมถึงภาษีในธุรกิจประกันภัย ตลอดจน พ.ร.บ คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะใช้จริงในปี ๒๕๖๕ ซึ่งธุรกิจประกันภัยมีความเกี่ยวโยงกับ ข้อมูลส่วนบุคคลค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการพิจารณารับประกันภัย การวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกค้า และการเสนอผลิตภัณฑ์ที่ในอนาคตจะเป็นรูปแบบ tailor made มากขึ้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานของสำนักงาน คปภ. ในอนาคตว่า การมุ่งสู่ “SMART OIC” บทบาทและแนวทางของสำนักงาน คปภ. ประกอบด้วย 5 มิติสำคัญ ดังนี้

มิติที่ 1 การเสริมสร้างความทนทานยืดหยุ่น และเสถียรภาพของระบบประกันภัย ซึ่งถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในระยะสั้น ที่ต้องรีบดำเนินการ เพื่อ “แก้วิกฤติ” และ “ฟื้นฟู” ธุรกิจประกันภัย โดยการปรับกระบวนการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ให้สะท้อนความเสี่ยง เน้นการทำงานแบบ proactive และ forward looking มากขึ้น

มิติที่ 2 ปรับปรุงกฎเกณฑ์และมาตรการให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงและปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ สำนักงาน คปภ. กำลังจะจัดให้มีโครงการ Product Sandbox ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถทดสอบผลิตภัณฑ์ใหม่ แนวคิดใหม่ นอกเหนือจากการทดสอบนวัตกรรมและเทคโนโลยีใน Insurance Regulatory Sandbox รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ efficiency ในระบบประกันภัย ป้องกันการฉ้อฉลประกันภัย ลดต้นทุนในธุรกิจประกันภัย

มิติที่ 3 การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในระบบประกันภัย (Digital Insurance System) ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ model ธุรกิจใหม่ๆ และแนวทางในการเปิดรับผู้เล่นรายใหม่

มิติที่ 4 การปรับเปลี่ยนแนวทางการเข้าถึงและสร้างความตระหนัก โดยคาดหวังประชาชนและภาคธุรกิจ ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถเข้าถึงประกันภัยได้สะดวก และใช้ประโยชน์จากการประกันภัย และยกระดับมาตรฐานและบทบาทคนกลางประกันภัย คปภ.หวังเปลี่ยนบทบาทของคนกลาง จากการเป็น“ผู้เสนอขาย” เป็น “ที่ปรึกษา” ที่ใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือวางแผนการเงิน

มิติที่ 5 พัฒนาองค์กร มุ่งสู่ SMART OIC มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การ transform องค์กรสู่ Digital regulators ในทุกมิติ โดยเน้น 1) ความรู้และทักษะด้านดิจิทัล รวมถึง Mindset ของบุคลากร 2) ข้อมูล หรือ Data ที่สำคัญมากในการช่วยตัดสินใจด้านกลยุทธ์และขับเคลื่อนระบบประกันภัย และ 3) การพัฒนา platform เพื่อช่วยยกระดับและอำนวยความสะดวกในการทำงาน