HoonSmart.com>>คปภ. กำหนดยุทธศาสตร์และแผนพัฒนา ปูทาง SMART OIC รองรับการเปลี่ยนแปลงรุปแบบใหม่ๆ กำกับดูแลและส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้มั่นคง ยั่งยืน หนุนผู้ประกอบการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีสร้างความเท่าเทียม
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวในการเปิดประชุมสัมมนาวิชาการด้านการประกันภัย ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๔ หรือ “Thailand Insurance Symposium 2021” ภายใต้แนวคิด “The New Era of Insurance: How to Manage Emerging Risks in the post COVID-19” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิทยาการประกันภัยระดับสูง สำนักงาน คปภ. ว่า การแพร่ระบาดของโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง สำนักงาน คปภ. ได้เห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจประกันภัยในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในทุก ๆ ด้าน ด้วยการนำเทคโนโลยีมาสร้างความเท่าเทียม และปรับปรุงกระบวนการทำงานในเชิงรุก เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน และผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย
คปภ.กำหนดมาตรการสำคัญไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๖๔ -พ.ศ. ๒๕๖๘) แผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๖๖) และแผนการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็น SMART OIC รองรับการเปลี่ยนแปลง เร่งศึกษา วิเคราะห์ และประเมินผลกระทบธุรกิจประกันภัยไทย จากสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้ง Digital Disruption การแพร่ระบาดของ COVID-19 และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ หรือ Emerging Risks แนวทางในการปรับตัวของภาคธุรกิจประกันภัยภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงแนวโน้มรูปแบบธุรกิจ (Business Model Transformation) ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้การกำกับดูแลและส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัยมีความมั่นคง ยั่งยืน (Sustainability)
สำนักงาน คปภ. มุ่งมั่นที่จะทำให้ระบบประกันภัยไทย มีความมั่นคง ยั่งยืน และแข่งขันได้ในเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยและใช้ประโยชน์ในการรองรับความเสี่ยงได้ ประกอบด้วย ๖ ปัจจัยหลัก คือ
๑) การสนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาและส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจประกันภัย สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็น InsurTech Hub เชื่อมโยงเครือข่ายกับภาคธุรกิจ Startup และ Tech Firms พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการออกกรมธรรม์ประกันภัย เช่น การเรียกค่าสินไหมทดแทนเมื่อเกิดอุบัติเหตุตามกรมธรรม์รถยนต์ผ่านระบบ Application “Me Claim”
๒) ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติของประชาชนและภาคเอกชนให้ตระหนักถึงความจำเป็นของการประกันภัย และใช้การประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละกลุ่มเข้าถึงการประกันภัยได้ง่าย
๓) การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจฟื้นตัวจากภาวะวิกฤต มีมาตรการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานและฐานะการเงินของบริษัทประกันภัย โดยคำนึงถึงความแตกต่างของขนาดและความพร้อมของบริษัท
๔) คนกลางประกันภัย ต้องยกระดับพฤติกรรมทางการตลาด (Market Conduct) และเสริมสร้างศักยภาพคนกลางประกันภัยให้มีคุณภาพ สนับสนุนให้นำเทคโนโลยีมาช่วยในการนำเสนอขายผ่านการใช้ระบบ Teleconference หรือผ่านโปรแกรมแซทแบบเห็นหน้า
๕) สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจประกันภัยด้วยการส่งเสริมให้มีการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่สะท้อนแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (Environmental, Social, and Governance : ESG) อย่างเป็นรูปธรรม
๖) การกำกับดูแล โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับให้เท่าทันกับความเสี่ยงใหม่ ๆ ปรับกฎเกณฑ์ให้มีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับแนวทางการกำกับดูแลตามมาตรฐานสากล และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประกันภัย เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจประกันภัย ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง
“การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นเปรียบเหมือนเหรียญ ๒ ด้าน มีทั้งโอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมประกันภัย โอกาส คือ ประชาชนให้ความสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น ตระหนักถึงเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ความท้าทาย คือ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของสภาพภูมิทัศน์ความเสี่ยง (Risk Landscape) ของระบบประกันภัยทั่วโลก ความเสี่ยงด้านโรคระบาดซึ่งกลายเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงของธุรกิจประกันภัย ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและภัยคุกคามทางไซเบอร์ ที่มาคู่กับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี” ดร.สุทธิพลกล่าว