HoonSmart.com>>”ปัญจวัฒนาพลาสติก” ประกาศกำไร 30.91 ล้านบาทไตรมาส 3/64 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ลดลง 32.75%เทียบไตรมาส 2/64 เจอโควิดระลอกใหม่ ฉุดให้ยอดขายชิ้นส่วนยานยนต์และบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นชะลอตัวลง ยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับนมและนมเปรี้ยวเพิ่มขึ้นได้ธุรกิจเมืองจีนช่วย อัตราขั้นต้นทำได้ดี แม้เจอราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น แนวโน้มปี 65 สดใสจากธุรกิจใหม่ บอร์ดมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 0.08 บาท
บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก (PJW)เปิดเผยผลประกอบการงวดไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 30.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.86 ล้านบาท คิดเป็น 92.59% เทียบกับปีก่อนมีกำไรสุทธิ 16.05 ล้านบาท แต่ลดลง 15.05 ล้านบาท หรือ 32.75%จากไตรมาสที่ 2 ทำได้ 45.96 ล้านบาท รวม 9 เดือนปีนี้กำไรทั้งสิ้น 119.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64.17 ล้านบาท 115.02% จากที่มีกำไรสุทธิ 55.79 ล้านบาทในปีก่อน
กำไรไตรมาสที่ 3/2564 ที่ดีขึ้นเทียบกับปีก่อน มาจากรายได้รวมเพิ่มขึ้น 91.42 ล้านบาท คิดเป็น 13.80% แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้ยอดขายของส่วนงานชิ้นส่วนยานยนต์และบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ดี ยอดขายบรรจุภัณฑ์สำหรับนมและนมเปรี้ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมียอดขายของผลิตภัณฑ์ใหม่ส่วนของธุรกิจในเมืองจีนยอดขายเพิ่มขึ้นกว่า 20%
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีอัตรากำไรขั้นต้นรวม 17.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 17.4% เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเนื่องจากราคาเม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นปี2564 นอกจากนี้บริษัทมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเพื่อจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ระรอกใหม่ อย่างไรก็ดีบริษัทมีการควบคุมต้นทุนการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดความสูญเสีย ทำให้สามารถรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ และอัตรากำไรสุทธิรวม 4.1% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 2.4%เนื่องจากสัดส่วนค่าใช้จ่ายในการบริหารต่อยอดขายลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
คณะกรรมการบริษัทฯมีมติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 0.08 บาท กำหนดขึ้น XD วันที่ 29 พ.ย. นี้ และจ่ายเงินวันที่ 9 ธ.ค2564 ทั้งนี้เงินปันผลคิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 2.08% เทียบกับราคาปิดที่ 3.84 บาท วันที่ 12 พ.ย.2564
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ปัญจวัฒนาพลาสติก เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในปีนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโต 8 -10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 2,829.83 ล้านบาท เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจฟื้นตัว อาทิ กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นพลาสติก ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก และธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ ประกอบกับบริษัทฯ มีการบริหารจัดการต้นทุนที่ดี ภายใต้แนวคิดการบำรุงรักษาทวีผลที่ทุกคนมีส่วนร่วม (Total Productive Maintenance หรือTPM) เพื่อลดความสูญเสียเปล่าที่เกิดขึ้น จากการที่ต้องหยุดผลิต และความเสียเปล่าที่เกิดจากการผลิตของเสีย (Defect)
นอกจากนี้ จากแผนการขับเคลื่อนกลยุทธ์ทางธุรกิจตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมาที่เดินหน้าต่อยอดสู่การแตกไลน์ธุรกิจใหม่ทางด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์กลุ่ม Medical Plastic Product เครื่องมือทางการแพทย์จากพลาสติกใช้แล้วทิ้ง อาทิ ไซริงค์พลาสติก, วาล์ว สายน้ำเกลือ, เข็มฉีดยา รวมถึงเครื่องมือแพทย์อื่นๆ เพื่อสร้างการเติบโตสู่ New S-curve จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้เข้ามาบางส่วนในไตรมาส4/2564 หลังจากที่ในช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทฯได้มีการเซ็น MOU กับบริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา (IP) เพื่อร่วมมือและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนโดยทั่วไป รวมถึงด้านการตลาด จัดจำหน่าย และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เข้ามาเต็มปีในปี 2565 ประมาณ 300 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในปีหน้า PJW จะมีอัตราการเติบโตของรายได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ