HoonSmart.com>> “การบินไทย” เปิดกำไรสุทธิงวด 9 เดือนปี 64 กว่า 5.11 หมื่นล้านบาท พลิกจากงวดปีก่อนขาดทุน 4.95 หมื่นล้านบาท บันทึกกำไรปรับโครงสร้างหนี้หนุน ด้านค่าใช้จ่าย รายได้ลด ส่วน EBITDA ติดลบ 9,639 ล้านบาท
บริษัท การบินไทย (THAI) เปิดเผยผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2564 สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2564 มีกำไรสุทธิ 51,121.29 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 23.42 บาท พลิกจากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 49,552.53 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 22.70 บาท โดยมี EBITDA เป็นลบ จํานวน 9,639 ล้านบาท ลดลงจากปี ก่อน 5,044 ล้านบาท EBITDA Margin เท่ากับ -64.2% เปรียบเทียบกับปีก่อนที่เท่ากับ -10.4%
ด้านผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเชื่อและมีข้อสังเกต เนื่องจาก 1.การขาดสภาพคล่อง ทางการเงินและการผิดนัดชำระหนี้ 2.ผลกระทบจากการแพร่ระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อการดำเนินงาน ของกลุ่มบริษัท และ3.การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ บริษัทไม่ได้จัดทำงบไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่บริษัทเคยแจ้งไว้ เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 โดยบริษัทได้รับยกเว้นไม่ต้องส่งงบการเงินรายไตรมาส ตามประกาศสำนักงาน ก.ล.ต.
ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ซึ่งไตรมาสแรกยังทำการบินปกติ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มระบาดของ COVID-19 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) ลดลง 70.7% ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (RPK) ลดลง 93.9% อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 13.9% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 67.0% และมีจํานวนผู้โดยสารที่ทําการขนส่งรวม 0.82 ล้านคน ลดลงจากปี ก่อน
83.8% สําหรับด้านการขนส่งสินค้ามีปริมาณการผลิตด้านพัสดุภัณฑ์ (ADTK) ต่ำกว่าปีก่อน 65.2% ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (RFTK) ต่ำกว่าปีก่อน 38.4% อัตราส่วนการขนส่งพัสดุภัณฑ์ (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 99.7% สูงกวาปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 56.2%
บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีรายได้รวม 14,990 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 29,230 ล้านบาท หรือ 66.1% สาเหตุหลักเกิดจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าลดลง 29,185 ล้านบาท (76.5%) รายได้จากการบริการอื่นๆ ลดลง 1,288 ล้านบาท หรือ 24.1% เนื่องจากมาตรการจํากัดการเดินทางระหว่างประเทศทั้งของประเทศไทยและประเทศต่างๆ มีรายได้อื่นเพิ่มขึ้น 1,243 ล้านบาท มีสาเหตุหลักจากการรับรู้รายได้ที่เกิดจากการหักกลบลบหนี้ค่าบริการรายเดือนและการซ่อมบํารุงตามสัญญาที่ค้างชําระตามข้อตกลงระงับข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกี่ยวข้องกบการชํารุดของเครื่องยนต์
สําหรับค่าใช้จ่ายรวม 36,481 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 41,695 ล้านบาท หรือ 53.3% เนื่องจากค่าใช้จ่ายดําเนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งลดลง และถึงแม้จะมีการดําเนินมาตรการเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เข้มงวดอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปจากการไม่สามารถทำการบินได้ปกติ ส่งผลให้ขาดทุนจากการดําเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 21,491 ล้านบาท แต่ขาดทุนลดลงจากปี ก่อน 12,465 ล้านบาท หรือ 36.7%
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทฯ ยังไม่สามารถกลับมาดําเนินการบินเต็มรูปแบบตามสภาวะปกติได้ตั้งแต่ที่ยกเลิกเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นการชัวคราวตั้งแต่ปลายเดือนมี.ค.2563 เป็นต้นมา ถึงแม้ว่าบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จํากด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยจะได้เปิดให้บริการเที่ยวบินในประเทศบางส่วนตั้งแต่เดือนมิ.ย.2563 แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ และมาตรการจํากัดการเดินทาง ทําให้ต้องมีการพิจารณาปรับลดจํานวนเที่ยวบินตามความต้องการของผู้โดยสารที่ลดลง โดยปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ของการบินไทยมาจากการให้บริการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเที่ยวบินผู้โดยสารบางเส้นทาง
นอกจากนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิเป็นรายได้รวม 73,084 ล้านบาท ประกอบด้วย กำไรจากการขายเงินลงทุน 2,202 ล้านบาท กำไรจากการขายทรัพย์สินจํานวน 628 ล้านบาท กำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จํานวน 60,730 ล้านบาท เงินชดเชยโครงการร่วมใจจากองค์กร 4,936 ล้านบาทเงินชดเชยกรณีเลิกจ้างพนักงาน 1,222 ล้านบาท การปรับปรุงรายการผลประโยชน์พนักงาน ลดลง 8,323 ล้านบาท จากการปรับโครงสร้างองค์กร และผลประโยชน์ของพนักงาน
ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องบินและสินทรัพย์สิทธิการใช้และอุปกรณ์การบินหมุนเวียน (กลับรายการ) จํานวน 18,440 ล้านบาท ผลขาดทุนจากการด้อยค่าซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (กลับรายการ) จํานวน 116 ล้านบาท และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจํานวน 11,197 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการตีมูลค่าทางบัญชีของหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ รวมหนี้สินตามสัญญาเช่าดําเนินงานเครื่องบินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 16