DOD คว้าออเดอร์ค้าปลีกรายใหญ่เข้าพอร์ต ส่งมอบ Hemp Seed Oil รายแรกพ.ย.นี้

HoonSmart.com>> “ดีโอดี ไบโอเทค” คว้าลูกค้าธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยเข้าพอร์ต จ่อทยอยส่งมอบออเดอร์ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 5 ผลิตภัณฑ์ ภายในปีนี้ พร้อมเสิร์ฟ ออเดอร์ ผลิตภัณฑ์ Soft Gel จากสารสกัด Hemp Seed Oil ให้ลูกค้ารายแรกปลายพ.ย.นี้ เตรียมนับถอยหลังรับใบอนุญาตตั้งโรงสกัดสาร CBD ภายในธ.ค.นี้

ธนิน ศรีเศรษฐี

นายธนิน ศรีเศรษฐี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค (DOD) เปิดเผยภาพรวมช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 ว่า บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากกัญชง และพืชกระท่อม (ซึ่งถือพืชเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและรักษาความสามารถในการแข่งขันให้กับกลุ่มบริษัทฯ

ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับออเดอร์ใหม่ จากบริษัทธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทยเข้ามา โดยมียอดออเดอร์ คำสั่งการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 5 ผลิตภัณฑ์ และคาดว่าจะสามารถเริ่มทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้ลูกค้าได้ภายในสิ้นปีนี้อย่างแน่นอน ทั้งนี้มองว่าการที่บริษัทฯได้ออเดอร์ใหญ่จากลูกค้าซึ่งเป็นค้าปลีกยักษ์ใหญ่ เป็นการการันตีให้เห็นถึงศักยภาพของ DOD ที่มีจุดแข็งและความพร้อมด้านโรงสกัดวัตถุดิบ

พร้อมด้วยทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ที่ค้นคว้าวิจัยนวัตกรรมและพัฒนาสารสกัดพืชสมุนไพร ในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ที่ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของลูกค้า ซึ่งบริษัทฯ เชื่อว่า การได้รับออเดอร์จากลูกค้ารายดังกล่าวเข้ามาจะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัทฯในอนาคตได้อย่างมีนัยสำคัญ และจากความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์กัญชงและพืชกระท่อม ส่งผลให้ล่าสุดบริษัทฯ สามารถเตรียมส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารเสริมในรูปแบบแคปซูลนิ่ม (Soft Gel) ที่มีส่วนผสมของน้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) และโปรตีนจากเมล็ดกัญชงที่มีสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ต่ำกว่า 0.2% ให้กับลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รายแรกภายในช่วงปลายเดือนพ.ย.หรือช่วงต้นเดือนธ.ค.นี้

ส่วนผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมจากสารสกัดจากกัญชง ของกลุ่มพันธมิตร อาทิ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย(JKN), บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล (KISS), บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ (BEAUTY), บริษัท ชโย กรุ๊ป(CHAYO), บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท (FN) และกลุ่มผู้ประกอบการทั่วไปนั้น ปัจจุบันได้มีการวิจัยและพัฒนาสูตรสำเสร็จในระดับหนึ่งแล้ว และอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสกัดจากกัญชงต่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยบริษัทฯคาดว่าจะสามารถทยอยส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวได้ ภายในช่วงต้นปี 2565 ตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ นายธนิน ยังได้กล่าวถึงบริษัท สยาม เฮอเบิล เทค จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ DOD จะเป็นบริษัทที่เข้ามาเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการในส่วนของโรงสกัดกัญชง และพืชกระท่อม ว่า ขณะนี้โรงสกัดสาร CBD ได้ผ่านการเห็นชอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานสกัดสาร CBD เพื่อเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารสกัดจากกัญชง ได้ภายในเดือนธันวาคมนี้อย่างแน่นอน ซึ่งหากได้รับใบอนุมัติบริษัทฯก็สามารถดำเนินการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ทันที

ด้านน.ส.สุวารินทร์ ก้อนทอง ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ดีโอดี ไบโอเทค กล่าวเพิ่มเติมว่า จากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเสี่ยงสูงและเปราะบาง ทำให้บริษัทฯ ได้ประเมินความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจระยะสั้นและระยะยาว จึงได้มีการปรับโครงสร้างของบริษัทฯด้วยการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจเครื่องสำอางและธุรกิจเครือข่าย เพื่อไม่ให้มีผลขาดทุนเพิ่มเติม อีกทั้งรักษาความคล่องของกลุ่มบริษัทเพื่อรองรับกับการเติบโตในอนาคต

ทั้งนี้ แม้ว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะกระทบให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างรุนแรง แต่หากพิจารณาจากผลการดำเนินงานของธุรกิจหลัก (Core Business) ในรอบ 9 เดือน 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจาก 696.32 ล้านบาท เป็น 787.68 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 13.12% และมีกำไรจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นจาก 205.82 ล้านบาท เป็น 266.45 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 29.46%

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 19.29 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลง 88.86% เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการขาดทุนจำนวน 212.85 ล้านบาท จากการหยุดการดำเนินงานของบริษัทย่อยทั้ง 2 แห่ง

ขณะที่ผลการดำเนินงานสำหรับไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ของบริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 184.25 ล้านบาท หรือลดลงในอัตรา 36.53% เพราะได้รับผลกระทบจากแพร่ระบาดของของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 40.23% เป็น 42.15% เป็นผลมาจากการควบคุมต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลและมีกำไรจากการดำเนินงาน 41.32 ล้านบาท หรือลดลงในอัตรา 52.52% และมีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ 22 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลง 68.33% เทียบจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน