ไทยออยล์เดินหน้าลงทุนโครงการพลังงานสะอาด เพิ่มศักยภาพการแข่งขันโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปรับให้ทันการเปลี่ยนแปลงของความต้องการใช้พลังงาน บอร์ดอนุมัติให้ต่อสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ 30 ปี ที่ตั้งโรงกลั่น
นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นบริษัทฯ เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2561 มีมติอนุมัติการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project-CFP)เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่นไทยออยล์ให้คงอยู่ในกลุ่มผู้นำของอุตสาหกรรม
บริษัทจะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดิบจากเดิมที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี กำหนดวงเงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยบริษัทฯ มีแนวทางเพิ่มเติมในการจัดหาผู้สนใจลงทุนในหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit : ERU) ซึ่งจะทำให้วงเงินลงทุนลดลงเป็นไม่เกิน 4,174 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายอธิคม กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก มีโรงกลั่นใหม่เกิดขึ้นหลายแห่ง มีข้อได้เปรียบจากการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีกำลังการผลิตสูง ทำให้โรงกลั่นที่มีอายุการใช้งานมานาน มีความสามารถในการแข่งขันลดลง นอกจากนี้ความต้องการผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความต้องการน้ำมันเตากำมะถันสูง คาดว่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการประกาศห้ามใช้ในเรือเดินสมุทรขององค์กรการเดินเรือระหว่างประเทศ และแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน ตามการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจและการเดินทางทางอากาศ เป็นต้น
” เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ไทยออยล์จึงริเริ่มโครงการ CFP ขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต สร้างหน่วยกลั่นน้ำมันดิบใหม่ที่มีกำลังการกลั่นสูงมาทดแทนหน่วยกลั่นน้ำมันเดิม ที่มีอายุการใช้งานมานาน ทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด และใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย สามารถกลั่นน้ำมันดิบได้หลากหลายชนิดขึ้น การติดตั้งหน่วยเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนน้ำมันเตาและยางมะตอยเป็นน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน “นายอธิคมกล่าว
นอกจากนี้ การลงทุนโครงการ CFP ยังจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในหลายๆ ด้าน อาทิ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน สร้างโอกาสการเป็น Energy Hub ของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) สนับสนุนการขับเคลื่อนและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศจากการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนี้โครงการ CFP ยังผลิตสารตั้งต้นของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ซึ่งสามารถสนับสนุนโครงการปิโตรเคมีระยะ 4 ของภาครัฐ อีกด้วย
ทางด้าน คณะกรรมการบริษัทไทยออยล์มีมติอนุมัติให้บริษัทฯลงนามในสัญญาร่วมลงทุนโดยการให้เช่าที่ราชพัสดุกับกระทรวงการคลัง มีสัญญาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2595 มูลค่าปัจจุบันของผลประโยชน์ตอบแทน (Present Value) ณ ปี 2565 ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท รวมมูลค่าสัญญาเช่าตลอดสัญญาประมาณ 21,321 ล้านบาท เพื่อใช้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมันและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการโรงกลั่น ซึ่งสัญญาเดิมจะหมดอายุสัญญาในปี 2565
ปัจจุบันไทยออยล์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีธุรกิจหลักคือ การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 275,000 บาร์เรลต่อวัน