TOP เด่นโดนใจ โตข้ามปี’65 ราคาหุ้นถูก IRPC กำไรเกิน 2 พันล.โต 38% Q3

HoonSmart.com>> “ไทยออยล์” เปิดกำไรไตรมาส 3/64 จำนวน 2,063 ล้านบาท โตแรง 188% จากงวดปีก่อน กวาดรายได้จากการขายเฉียด 8 หมื่นล้านบาท เติบโต 40% กำไรสต๊อกน้ำมันหนุน  รวมงวด 9 เดือนกำไร 7,545 ล้านบาท รายได้พุ่งแตะ 2.41 แสนล้านบาท  นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคงแนะนำซื้อ ราคาถูก บล.หยวนต้าเพิ่มประมาณการปีนี้ขึ้น 43% เป็น 9,800 ล้านบาท ปีหน้ากำไรปกติ 9,300 ล้านบาท ยกหุ้นเด่น ส่วน “ไออาร์พีซี” กำไร 2 พันล้านบาท เพิ่ม 38.50%

บริษัท ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2564  มีกำไรสุทธิ 2,062.67 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.01 บาท เพิ่มขึ้น 188.37% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 715.29 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.35 บาท

ส่วนงวด 9 เดือนปี 2564 กำไรสุทธิ 7,545.35 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 3.70 บาท พลิกจากจากงวดเดียวกันของปีก่อนขาดทุนสุทธิ 10,558.84 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 5.18 บาท

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายในไตรมาส 3/2564 จำนวน 79,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22,843 ล้านบาท หรือ 40% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ตามราคาขายเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบ และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันอากาศยาน/น้ำมันก๊าดกับน้ำมันดิบดูไบดีขึ้น จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในช่วงฤดูกาลขับขี่ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐฯ ประกอบกับอุปทานน้ำมันเบนซินที่ตึงตัวจากพายุเฮอริเคนไอดา รวมถึงจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ ส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตาเพิ่มขึ้นอย่างมากจากอุปทานที่ตึงตัวต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ก็ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ  ขณะที่ธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดก็มีกำไรขั้นต้นสูงขึ้นจากอุปสงค์ของสาร LAB ที่ยังคงดีอย่างต่อเนื่องและอุปทานยังตึงตัว

นอกจากนี้กลุ่มไทยออยล์มีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 929 ล้านบาท และมีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 280 ล้านบาท เทียบกับการกลับรายการมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 378 ล้านบาทในไตรมาสที่ 3 /63 เมื่อรวมกับผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 479 ล้านบาท เทียบกับกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 144 ล้านบาท  ส่งผลให้มี EBITDA เพิ่มขึ้น 2,965 ล้านบาท

ในไตรมาส 3/2564 กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงินเพิ่มขึ้น 1,462 ล้านบาทและมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิเพิ่มขึ้น 770 ล้านบาท ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินลดลง 221 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 231,530 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48,598 ล้านบาท จ สาเหตุหลักจากราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่มีปริมาณวัตถุดิบที่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของกลุ่มลดลงจากการปรับแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสภาพตลาดที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19

ทั้งนี้จากส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินกับน้ำมันดิบดูไบ ส่วนต่างราคาน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานกับน้ำมันเตา และส่วนต่างราคาสารเบนซีนกับน้ำมันเบนซิน 95 ที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงกำไรขั้นต้นของกลุ่มธุรกิจผลิตสารตั้งต้นสำหรับผลิตภัณฑ์สารทำความสะอาดที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้กำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันเพิ่มขึ้น 2.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 4.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในงวด 9 เดือนปี 2564

นอกจากนี้ยังมีกำไรจากสต๊อกน้ำมัน 12,354 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 9,190 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ปี 2563

อย่างไรก็ตาม มีรายการปรับลดมูลค่าสินค้าคงเหลือน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป 242 ล้านบาท ลดลง 390 ล้านบาทจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เมื่อรวมผลขาดทุนจากเครื่องมือทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงสุทธิ 654 ล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์มี EBITDA 22,060 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุน EBITDA 5,549 ล้านบาทในงวด 9 เดือน ปี 2563

กลุ่มไทยออยล์มีผลขาดทุนจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงิน 2,256 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 5,118 ล้านบาทจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าอย่างมีนัยสำคัญในปีนี้เมื่อหักต้นทุนทางการเงิน 2,637 ล้านบาท ซึ่งลดลง 616 ล้านบาทจากการรวมต้นทุนการกู้ยืมเป็นส่วนหนึ่งของราคาทุนของสินทรัพย์ ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้แล้ว

ด้านบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น 43%เป็น 9,800 ล้านบาท และยังคงประมาณการกำไรปกติปี 2555 ที่ 9,300 ล้านบาท พร้อมปรับใช้ราคาเหมาะสมปีหน้าที่ 65 บาท อ้างอิง P/BV 1 เท่า เท่าเดิม

“คงคำแนะนำซื้อ มองว่าหุ้น TOP เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนใน 6-12 เดือนข้างหน้า เพราะค่าการกลั่นและอัตราการผลิตได้ประโยชน์จากกิจกรรมการเดินทางในชีวิตประจำวันและการท่องเที่ยว รวมถึงระยะยาวมีการเติบโตจากการโครงการ CFP ขยายการผลิตโรงกลั่นจาก 275KBD เป็น 400 KBD คาด COD ปี 2566 และการต่อยอดสู่ธุรกิจปิโตรเคมี TOP เป็นหุ้นโรงกลั่นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ ราคามีส่วนลดจากอดีตและต่ำกว่าคู่แข่งที่ซื้อขายที่P/BV 1.0-1.6 เท่า” บล.หยวนต้าระบุ

ทั้งนี้ บริษัทหลักทรัพย์ส่วนใหญ่แนะนำซื้อ โดยบล.โนมูระ พัฒนสินให้มูลค่าเหมาะสมสูงถึง 75 บาทตามด้วยบล.ทรีนีตี้  72 บาทและบล.บัวหลวงให้ราคา 70 บาท โดยนักวิเคราะห์ 15 รายให้ราคาเฉลี่ย 64.68 บาท และราคากลาง 66.25 บาท

บริษัท ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/2564 มีกำไรสุทธิ 2,155.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 599.07 ล้านบาท หรือ 38.50%เทียบกำไรสุทธิในช่วง เดียวกันปีก่อน 1,555,992 ล้านบาท รวม 9 เดือนปีนี้กำไรสุทธิ 12,310.42 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนสุทธิ -7,759.84 ล้านบาท

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 62,088 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% เทียบไตรมาส 2 จากราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ตามราคมน้ำมันดิบและปริมาณขายเพิ่มขึ้น 2% โดยโรงกลั่นน้ำมันมีอัตราการกลั่นอยู่ที่ 191,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 2% เนื่องจากไตรมาสนี้มีการหยุดซ่อมบำรุงตามแผนของหน่วยผลิต
HYVAHL ของโรงงาน RDCC เป็นเวลา 45 วัน บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 7,216 ล้านบาท (12.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล) ลดลง 17 %มีสาเหตุหลักจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ ทั้งปิโตรเลียมและปิโตรเคมีส่วนใหญ่ลดลง รวมทั้งต้นทุน Crude Premium ปรับตัวเพิ่มขึ้น