๐ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563
๐ การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯรายงานออกมาเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การจ้างงานเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง
๐ จากสถิติผลตอบแทนรายเดือนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ย้อนหลังไปตั้งแต่ปี 2528 บ่งชี้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกในเดือน พ.ย. ราว 2% ด้วยความน่าจะเป็นสูงถึง 70%
๐ ตลาดหุ้นในระยะข้างหน้าอาจมีความผันผวนจากประเด็นเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่สูง และระดับ Valuation ที่เริ่มตึงตัวมากขึ้น เราแนะนำให้เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตคุณภาพดี ที่สามารถรับมือกับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นได้ดี
Highlighted Funds
MGF :
เรามองว่าหุ้นเติบโตจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นคุณค่า ในช่วงกลางวัฏจักร (Mid-Cycle) และสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาด โดยเฉพาะหุ้นเติบโตที่มีคุณภาพดี (Quality Growth Stock) เนื่องจากหุ้นประเภทนี้จะมีส่วนแบ่งทางการตลาดสูง ขณะเดียวกันก็มีกำไรและรายได้เติบโตสม่ำเสมอ
MRENEW
: หุ้นในกลุ่มพลังงานสะอาดที่เป็นหนึ่งในธีมการลงทุนของกองทุนหลัก ราคาหุ้นได้มีการปรับตัวลง จนทำให้ปัจจุบันมี Valuation ที่น่าสนใจอีกครั้ง สังเกตได้จากค่า Forward P/E ของดัชนี S&P Global Clean Energy Index ที่เป็นดัชนีชี้วัดของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ที่ลงมาอยู่บริเวณค่าเฉลี่ยในรอบ 2 ปี
MEURO
: นักวิเคราะห์คาดการณ์ ปี 2564 ตลาดหุ้นยุโรปจะมีการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS) สูงกว่าภูมิภาคอื่น มีกำไรเติบโตสูงถึง 55%YoY นอกจากนี้ Valuation ของตลาดหุ้นยุโรปยังถูกเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดย Relative Forward P/E ของดัชนี FTSE World Europe ex UK และดัชนี S&P500 ปัจจุบันอยู่ที่ -1S.D.
Investment Strategy
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 5 ติดต่อกัน ถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนานที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2563 โดยตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นท่ามกลางผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ประกาศออกมาดีกว่าคาด ซึ่งปัจจุบันบริษัทจดทะเบียนในดัชนี S&P500 รายงานงบการเงินออกมาแล้ว 447 บริษัท และกว่า 80% ของบริษัทที่รายงานงบการเงินออกมามีกำไรมากกว่าคาด นอกจากนี้ตลาดยังได้แรงหนุนจากผลการประชุม FOMC ของเฟดที่ค่อนข้าง Dovish โดยเฟดส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าการจ้างงานจะฟื้นตัวเต็มอัตรา พร้อมกันนี้ยังประกาศลดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรภายใต้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE Tapering) เดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามที่ตลาดคาด
ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรเดือน ต.ค. ของสหรัฐฯ รายงานออกมาเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง การจ้างงานเพิ่มขึ้น 531,000 ตำแหน่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 450,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.6% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% สะท้อนตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังฟื้นตัวได้ดีเข้า ใกล้กับระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด
โดยการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในเดือน ต.ค. มาจากแรงงานในกลุ่มของภาคการบริการเป็นหลัก โดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว, สันทนาการ, กลุ่มการศึกษา และกลุ่มดูแลรักษาสุขภาพ สอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) ในเดือน ต.ค. ที่ขยายตัวแรงมาอยู่ที่ระดับ 66.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ย. ที่ระดับ 61.9 จุด ขณะที่ภาคการผลิต (ISM Manufacturing PMI) ลดลงจาก 61.1 จุดในเดือน ก.ย. มาที่ระดับ 60.8 จุดในเดือน ต.ค. แต่ยังมากกว่าที่ตลาดคาดและอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวมากกว่าระดับ 50 จุด